Senior to Staff Engineer

ถ้าพูดถึงการก้าวจาก Senior Engineer ไปเป็น Staff Engineer เราต้องเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพราะยิ่งเติบโตในเส้นทางสายนี้ ยิ่งจะต้องมองภาพรวมกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ระดับทีม แต่รวมถึงองค์กรและเป้าหมายทางธุรกิจด้วย เราจะไม่ได้ถูกประเมินจากแค่ความสามารถส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่ถูกวัดจากผลลัพธ์ของ project ที่เราเป็นคนนำและความสำเร็จของทีม เราต้องเปลี่ยนจาก “ตัวบวก” เป็น “ตัวคูณ” ที่ช่วยให้คนอื่นและองค์กรเติบโตไปด้วยกัน จากบทความ 5 skills to develop to grow from Senior to Staff Engineer มาดูกันว่า 5 ทักษะสำคัญที่ควรพัฒนาเพื่อก้าวจาก Senior สู่ Staff Engineer มีอะไรบ้าง

1. Extreme Ownership

เริ่มจากการรับผิดชอบมากกว่าการทำงานตามหน้าที่ เราต้องผลักดันผลลัพธ์และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ทำให้เจ้านายของเราไม่ต้องตามงานบ่อย

  • อย่ารอแต่คำสั่ง มองหาสิ่งที่สามารถพัฒนาได้เอง ระบุปัญหา และเริ่มต้นแก้ไข
  • เสนอ project สำคัญ ขับเคลื่อนการทำงาน และทำให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน
  • Update ความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเข้าใจผิดและสร้างความเชื่อมั่น
  • ชื่นชมความสำเร็จของทีมและสนับสนุนคนที่ทำผลงานได้ดี

2. Ruthless Execution

ต่อมาคือการผลักดันงานให้เสร็จสมบูรณ์โดยไม่ปล่อยให้เรื่องใดค้างคา ทำให้ project ที่รับผิดชอบเดินหน้าและเสร็จทันเวลา

  • ติดตามความคืบหน้าอย่างละเอียด รู้ว่างานส่วนไหนเสร็จแล้ว ส่วนไหนติดขัด แล้วจะเสร็จเมื่อไร เพื่อให้ทีมเดินหน้าได้เสมอ
  • จัดทำเอกสารที่รวมรายละเอียดสำคัญทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนติดตามได้ง่าย

3. Sees Chaos as a Ladder

ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนหรือวุ่นวาย คนที่จะโดดเด่นได้คือคนที่มองหาโอกาสและสร้างความชัดเจน (ถางทาง) ให้คนอื่น มันคือการแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนที่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้

  • เมื่อไม่มีใครลงมือทำ ให้วิเคราะห์ปัญหา เสนอทางแก้ และนำพาทีมสู่ทางออก
  • หลังจากนั้นอย่าหยุดแค่การเสนอไอเดีย เราต้องเป็นคนนำการเปลี่ยนแปลง ลงมือทำให้สำเร็จ
  • ประเมินความสำคัญของงานแล้วเลือกทำสิ่งที่มี impact สูงสุดก่อน

4. Malleability

วงการพัฒนา software มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การเรียนรู้และปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันช่วยให้เรายังคงมีคุณค่าและสามารถพัฒนาสิ่งที่ดีให้กับองค์กรได้

  • เรียนรู้สิ่งใหม่อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าใจเรื่องใหม่ ๆ และเริ่มสร้างชิ้นงานจากตรงนั้น (prototype, proof-of-concept) ได้ในเวลาอันสั้น
  • ปล่อยวางสิ่งเก่า พร้อมปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือวิธีการที่ล้าสมัย (unlearn)

5. Non-Ambiguous Communicator

แม้ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งไหน การสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญไม่แพ้กับทักษะอื่น ๆ เพราะมันช่วยเพิ่ม impact ของเราในองค์กรและสร้างความไว้วางใจจากทุกฝ่าย

  • สื่อสารอย่างตรงประเด็น อธิบายไอเดียซับซ้อนให้เข้าใจง่าย และเชื่อมโยงกับเป้าหมายขององค์กร ไม่ว่าจะมาจากการพูดหรือการเขียน email หรือ project proposal
  • ใช้การสื่อสารเพื่อกำหนดเป้าหมาย สร้างสร้างความเข้าใจร่วมกัน และแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น