สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่าน(ฟัง)หนังสือเดือนสิงหาคม 2024
Big Feelings
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงความรู้สึกต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญที่ทำให้เราไม่มีความสุข และวิธีการรับมือกับมันเพื่อเรียนรู้ให้เราเติบโตขึ้นด้วยการก้าวผ่านมันไปแทนที่จะพยายามลบความรู้สึกเหล่านั้นออกไป
-
ความไม่แน่นอน (Uncertainty): อย่าหนีปัญหา แต่ให้ลองนั่งเผชิญกับมันแทน การผลักไสความไม่แน่นอนออกไปโดยการทำอย่างอื่นไม่ใช่ทางออกที่ดี ลองถามตัวเองว่า จริง ๆ แล้วเรากังวลเรื่องอะไร และสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอาจเป็นอย่างไร ทำในสิ่งที่เราควบคุมได้ และยอมรับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
-
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น (Comparison): การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเป็นเรื่องปกติ แต่เราควรถามตัวเองว่าเรากำลังเปรียบเทียบอะไรอยู่ พวกเขามีอะไรที่เราไม่มี และถ้าเรามีชีวิตแบบพวกเขาจริง ๆ เราจะรู้สึกอย่างไร การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอาจเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเองได้ แต่ถ้าเรารับรู้และคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ก็สามารถเรียนรู้จากมันได้
-
ความโกรธ (Anger): ความโกรธบางครั้งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และเป็นธรรมชาติ แต่สิ่งที่ไม่ดีคือการเก็บซ่อนความโกรธไว้ ดังนั้นวิธีจัดการกับความโกรธคือการรับรู้มันก่อน ลองเขียนบันทึกความโกรธของเราลงไปว่าสิ่งไหนที่ทำให้เราโกรธ จนในที่สุดเราจะเริ่มเห็น pattern ของมัน
-
ความเหนื่อยล้า (Burnout): เราต้องรู้จักพอใจในการไม่ต้องทุ่มทุกอย่างเต็ม 100% ของตัวเองเสมอ อย่าเอาแรงไปทุ่มที่งานที่เราทำแล้วไม่รู้สึกมีความหมายหรือรู้สึกหนักหัวไปหมด
-
การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism): ปล่อยวางความต้องการสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่ยาก แต่เราควรเริ่มจากการยอมรับความล้มเหลว ลองถามตัวเองว่าเพื่อน ๆ ของเราชอบอะไรในตัวเรา คนอื่นไม่ได้ถือเรามาตรฐานเดียวกับที่เราถือกับตัวเอง ลองตั้งชื่อให้เสียงภายในที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ แล้วเมื่อนั้นเราจะรู้ว่าเป็นเพียงเสียงของมัน ไม่ใช่ของเรา
-
ความหมดหวัง (Despair): พักตัวเองบ้างด้วยสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี เช่น อาบน้ำอุ่น ดูหนังตลก กินไอศกรีม ตบไหล่ตัวเองเบา ๆ เมื่อเราผ่านอะไรมาได้อีกครั้ง หรือแม้แต่ลองพูดคุยกับคนที่เข้าใจเราจริง ๆ
-
ความเสียดาย (Regret): ลองเปลี่ยนจาก “รู้งี้” เป็น “ถ้าเกิดว่า” เราทำบางสิ่งบางอย่างเพื่ออนาคตของเรา น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้มากกว่าการกลับไปแก้ไขเรื่องในอดีต
Managing Up
หนังสือเล่มนี้พูดถึงแนวทางในการจัดการความสัมพันธ์กับหัวหน้าของเรา มักจะใช้ในตอนที่เราเพิ่งทำความรู้จักกับหัวหน้าใหม่ หรือไม่ได้มีมีการสร้างความเชื่อใจอะไรกันมาก่อน สิ่งสำคัญคือการเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้หัวหน้าของเราทำงานได้ดี มักจะสื่อสารอย่างไร ได้รับแรงผลักดันจากที่ไหน
- หัวหน้าแบบ Innie vs Outie:
- หัวหน้าแบบ Innie มักจะเน้นไปที่ความคิดและความเห็นของตนเอง ดังนั้นเขาอาจไม่ค่อยแชร์ข้อมูลหรือความเห็นกับเรา ยกเว้นเราจะถาม และมักใช้เวลาคิดก่อนจะตัดสินใจ ทำให้เขาตอบกลับช้าต่อการสอบถาม
- หัวหน้าแบบ Outie จะเน้นไปที่การมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกและความสัมพันธ์กับคนอื่น เขาจะเต็มใจแชร์ข้อมูลกับเรา และเราจะรู้ว่าเขาคิดอะไรเพราะเขาจะบอกเราตรง ๆ
- สำหรับหัวหน้าแบบ Innie เราควรจัดเวลานัดพบแบบตัวต่อตัวและเตรียมตัวให้พร้อมที่จะพูดคุยแบบกระชับและตรงประเด็น
- สำหรับหัวหน้าแบบ Outie ให้เราฟังและแสดงความสนใจขณะที่เขาพูด นอกจากนี้ควรแสดงความคิดเห็นของเราด้วย แม้ว่าเราจะไม่แน่ใจ เพราะเขาจะชื่นชอบการสื่อสารที่เปิดเผย
- หัวหน้าแบบ Advancer vs Harmonizer:
- Advancer มุ่งมั่นที่จะได้ผลลัพธ์ เขาเน้นการทำงานที่มีเป้าหมายชัดเจนและไม่ค่อยสนใจการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เมื่อเราเข้าพบเขาด้วยปัญหา ควรเตรียมทางแก้ไขไว้ด้วย และให้เขาเลือกทางที่ดีที่สุด
- Harmonizer มุ่งเน้นที่การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีมากกว่าการบรรลุเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันและความสุขของเพื่อนร่วมงาน เขาไม่ชอบความขัดแย้ง เราควรเน้นที่การทำให้ทีมทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น
- หัวหน้าแบบ Micromanager:
- Micromanager มักจะรู้สึกไม่มั่นคงในบทบาทของตนเอง และกลัวการทำผิดพลาด การสร้างความเชื่อถือกับหัวหน้าแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องพิสูจน์ว่าเราเป็นคนทำงานที่น่าเชื่อถือและสามารถทำงานได้ดี
- นอกจากนี้ ควรสื่อสารกับหัวหน้าแบบ Micromanager บ่อย ๆ อาจจะเริ่มจากการส่ง memo สรุปงานที่เราทำอยู่ทุกวัน
- หัวหน้าแบบ Absentee:
- หัวหน้าแบบนี้มักจะไม่อยู่เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ บางครั้งเขาอาจยุ่งกับงานของตัวเองหรืออาจตั้งใจที่จะไม่ยุ่งกับงานของเรา
- สิ่งที่เราควรทำคือทำงานของเราให้ดีที่สุด และถ้าหัวหน้าไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ เราอาจต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนเพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมีคนรับจบอยู่ดี
- หัวหน้าแบบ Narcissist:
- หัวหน้าแบบนี้มักจะมีอัตตาสูง ต้องการคำชื่นชมและการยกย่องอยู่เสมอ เราอาจต้องแสดงความเคารพอย่างมากในการสื่อสารกับเขา และใช้คำพูดที่เหมาะสมเมื่อต้องแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไป
- หัวหน้าแบบ Incompetent:
- หัวหน้าแบบนี้ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่เขามักจะทำงานผิดพลาดและสื่อสารไม่ชัดเจน สิ่งที่เราควรทำคือเข้าใจสาเหตุที่เขาทำงานไม่ดี และพยายามช่วยเขาในการทำงานให้ดีขึ้น
- นอกจากนี้ลองหาว่าหัวหน้าของเรามีความสามารถพิเศษในด้านใดบ้าง และพยายามเรียนรู้จากสิ่งนั้น
- ถึงแม้ว่าเราจะมีวิธีจัดการกับหัวหน้าที่ท้าทาย แต่หากเรารู้สึกว่าเวลาของเราหมดไปกับการจัดการปัญหาและไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ อาจถึงเวลาที่เราควรพิจารณาการเปลี่ยนงาน เพราะทุก ๆ วันที่เรารู้สึกไม่มีความสุขในงานปัจจุบัน คือทุก ๆ วันที่เราเสียโอกาสที่จะมีความสุขและประสบความสำเร็จในที่อื่น
Doesn’t Hurt to Ask
หนังสือเล่มนี้พูดถึงการใช้ “การตั้งคำถาม” เป็น technique ในการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจคู่สนทนา
-
การโน้มน้าวใจไม่ใช่การทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการฟังพวกเขา สื่อสารกับพวกเขา และแสดงความเชื่อของเราอย่างมีเหตุผล การใช้คำถามเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวใจ เพราะมันช่วยให้การสนทนามุ่งเน้นไปที่คู่สนทนา และทำให้พวกเขาตอบรับโดยไม่ปิดกั้น
-
การโน้มน้าวใจในชีวิตจริงเป็นการค่อย ๆ เคลื่อนคู่สนทนาให้เข้ามาใกล้ความเชื่อของเรามากขึ้น เราต้องรู้ว่าต้องการไปทางไหน จะไปถึงจุดนั้นอย่างไร และจะพาพวกเขาไปด้วยได้อย่างไร
-
การทำให้คนเชื่อทั้งหมด 100% นั้นไม่ใช่เป้าหมายที่เป็นไปได้เสมอไป แต่การทำให้คนเชื่อ 30-50% เป็นเป้าหมายที่เหมาะสม เมื่อถึงระดับนั้นพวกเขาเริ่มเห็นมุมมองของเราและเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อของตนเอง
-
วิธีนำเสนอข้อโต้แย้งขึ้นอยู่กับผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นในศาล กลุ่มเพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกครอบครัว คำถามง่าย ๆ อย่าง “เราพร้อมจะเปิดรับที่จะฟังเรื่องนี้ไหม?” อาจช่วยประหยัดเวลาได้มาก
-
ความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญในการโน้มน้าวใจ อย่าใช้คำพูดที่ดูถูกหรือแสดงความขัดแย้งกับตัวเอง และที่สำคัญที่สุด อย่าโกหก เพราะคนส่วนใหญ่พร้อมให้อภัยความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่จะไม่ให้อภัยการบิดเบือนข้อเท็จจริง
-
อารมณ์ที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจในเรื่องที่กำลังพูดถึง
-
การยึดกับอุดมคติสูงสุด เช่น ค่านิยมของครอบครัว ความยุติธรรม หรือความเสมอภาค จะช่วยให้เราแสดงความรู้สึกจริงใจเกี่ยวกับเรื่องที่เล็กน้อย
-
เราสามารถใช้เครื่องมือทำลายความน่าเชื่อถือของคู่สนทนาให้เป็นประโยชน์ในการโน้มน้าวใจได้ เช่น การโต้แย้งข้อเท็จจริงที่คู่สนทนาอ้างอิง การท้าทายตรรกะ หรือการโจมตีลักษณะนิสัยของพวกเขา
-
บางครั้งคนมักใช้คำที่ไม่ชัดเจน การขอให้คู่สนทนาชี้แจงคำพูดของเขาอาจเพียงพอที่จะทำให้ข้อโต้แย้งของเขามีช่องโหว่
-
การตั้งคำถามแบบ Softball เป็นคำถามที่ง่ายและเปิดโอกาสให้คู่สนทนาตอบได้หลากหลาย โดยไม่มีเป้าหมายที่จะชี้นำ ซึ่งจะทำให้คู่สนทนาสามารถนำการสนทนาไปในทิศทางที่ต้องการได้
-
คำถามที่คำใช้ง่าย ๆ และชัดเจนจะทำให้คำถามของเรามีความแข็งแกร่งและยากต่อการโจมตี
-
การใช้การทวนคำถามเป็นวิธีที่ดีในการทำให้คู่สนทนาของเราเข้าใจว่าสิ่งที่เราพูดนั้นสำคัญ
-
การตีความใหม่ (Repackaging) สามารถใช้เพื่อลดความน่าเชื่อถือของข้อโต้แย้งโดยการนำเสนอในคำพูดที่แตกต่างกัน
-
เมื่อเราถูกกดดันในข้อโต้แย้ง เราสามารถใช้กลยุทธ์ในการเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การสร้างคำถามเพื่อหยุดการสนทนาของคู่สนทนา หรือใช้การโต้แย้งแบบละเอียดเพื่อชะลอการโจมตีของคู่สนทนา
-
การโน้มน้าวใจไม่ใช่เรื่องการชนะ แต่เป็นการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ฟังของเราสรุปผลลัพธ์เองจากข้อโต้แย้งของเรา
-
การนำเสนอข้อโต้แย้งของเราควรเริ่มต้นด้วยจุดแข็งที่สุด ใช้ข้อเท็จจริงที่ดีที่สุดของเราในคำถามแรก แล้วต่อด้วยข้อเท็จจริงที่ดีรองลงมา และปิดท้ายด้วยข้อเท็จจริงที่ดีที่สุดอันดับสองเพื่อการโจมตีสุดท้าย