สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่าน(ฟัง)หนังสือเดือนมกราคม 2025
How to Break Up with Your Phone
หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีเลิกติดมือถือใน 30 วัน สืบเนื่องจากปัญหาการติดโทรศัพท์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยนี้ ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะเสียสมาธิได้ง่ายขึ้นจากโฆษณา link และ notification ส่งผลเสียทำให้การจดจ่อกับงานต่าง ๆ ยากขึ้น และเพิ่มความเครียดให้กับสมอง หลังจากปรับตัวแล้ว เราอาจพบว่าเรามีเวลามากขึ้นสำหรับสิ่งที่มีความหมายมากกว่าก็ได้
- ผู้คนใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มากขึ้น ไม่ว่าจะบนรถโดยสาร ร้านอาหาร หรือแม้แต่ตามท้องถนน เฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อวัน (เราเองก็ใช้เฉลี่ยประมาณนี้เหมือนกัน ฮ่า ๆๆ)
- หากใครไม่แน่ใจว่าตัวเองติดโทรศัพท์ไหม สามารถทดลองได้ด้วยแบบทดสอบ Smartphone Compulsion Test ก็จะมีคำถามน่าสนใจหลาย ๆ ข้อเช่น
- ใช้โทรศัพท์นานกว่าที่ตั้งใจไว้หรือไม่
- Slide หน้าจอไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเป้าหมายหรือไม่
- สื่อสารกับคนอื่นผ่านโทรศัพท์มากกว่าการเจอหน้าหรือไม่
- เปิดโทรศัพท์ไว้ขณะอยู่บนเตียงหรือไม่
- Dopamine เป็น hormone ที่เกี่ยวข้องกับความสุขและแรงจูงใจ เมื่อสมองได้รับการกระตุ้นซ้ำ ๆ ก็จะเกิดการเสพติด ซึ่ง social media ก็ใช้หลักการนี้ในการออกแบบ application เช่น การชะลอการส่ง “like” และข้อความไว้นิดนึงเพื่อให้ผู้ใช้กลับมา check บ่อยขึ้น
- การเสียสมาธิเป็นกลไกที่เคยมีประโยชน์ในอดีต เพื่อให้มนุษย์ตื่นตัวกับอันตราย ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้สมองเหนื่อยล้าง่าย การมาของโทรศัพท์จึงเป็นตัวกระตุ้นสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลเสียต่อความจำระยะสั้นและระยะยาวและสุขภาพโดยรวม
- การ check โทรศัพท์บ่อย ๆ ทำให้สมองรับข้อมูลใหม่ ๆ ตลอดเวลา ส่งผลให้ไม่สามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ สมองถูกขัดจังหวะตลอดเวลา การถ่ายโอนข้อมูลไปยังจากความจำระยะสั้นไปยังระยะยาวจึงล้มเหลว
- แสงสีฟ้า (Blue light) จากหน้าจอรบกวนการผลิตเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็น hormone ที่ช่วยให้หลับ ทำให้สมองตื่นตัวจนหลับยากขึ้น การอดนอนเรื้อรังสามารถนำไปสู่โรคหัวใจและปัญหาสุขภาพจิตตามมา
- การเลิกใช้โทรศัพท์ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ต้องการมีเวลาทำสิ่งที่ชอบมากขึ้น อยากใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น หากไม่มีแผนการล่วงหน้า มีโอกาสสูงที่จะกลับไปติดโทรศัพท์อีก
- แผน 30 วันสำหรับการเลิกติดโทรศัพท์
- วันแรก-วันที่ 2: ใช้ application ติดตามเวลาที่ใช้โทรศัพท์
- วันที่ 3-วันที่ 4: สังเกตอารมณ์ของตนเองก่อน-หลังใช้โทรศัพท์
- วันที่ 5-วันที่ 7: หลีกเลี่ยงการใช้ social media ลองทำกิจกรรมอื่นแทน
- วันที่ 8: ปิดการแจ้งเตือนทั้งหมด
- วันที่ 9-วันที่ 14: ตั้งเวลากำหนดการใช้โทรศัพท์ เช่น ห้ามใช้ในช่วงเช้าหรือก่อนนอน
- วันที่ 15-วันที่ 21: ใช้โทรศัพท์เฉพาะเวลาจำเป็น
- วันที่ 22-วันที่ 30: ลองใช้ชีวิตโดยไม่มีโทรศัพท์เป็นระยะเวลานานขึ้น
- สุดท้ายแล้วการลดการใช้โทรศัพท์ไม่ใช่การตัดขาด แต่เป็นการฝึกให้ใช้อย่างมีสติ เพราะโทรศัพท์ควรเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมชีวิตเรา
The 3-Minute Rule
หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า การนำเสนอที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาทั้งหมดที่พูด แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจและสนใจในช่วงที่เขามีสมาธิที่สุด (3 นาทีแรก) ได้หรือไม่ เพราะความกระชับและความชัดเจนเป็นกุญแจสำคัญของการนำเสนอที่ประสบความสำเร็จ
- ผู้คนในยุคปัจจุบันมีช่วงความสนใจสั้นลงเพราะถูกถาโถมด้วยข้อมูลมากมาย การพูดเยิ่นเย้อหรือใช้ลูกเล่นมากเกินไปอาจทำให้ผู้ฟังสูญเสียความสนใจ หนักไปกว่านั้นพวกเขาจะเริ่มตั้งแง่ วิจารณ์ หรือเบื่อหน่าย
- สมมติว่าเราพูดยาว 1 ชั่วโมง เรานำเสนอได้ดี แต่ถ้าผู้ฟังต้องอธิบายต่อให้คนอื่นฟัง พวกเขาจะทำได้ดีแค่ไหน พวกเขาจะจำที่เราพูดได้ทั้งหมดหรือเปล่า ดังนั้น การทำให้ presentation ของเราเรียบง่ายและเข้าใจง่ายภายใน 3 นาที ช่วยให้ข้อมูลถูกส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ
- หลายคนคิดว่าพวกเขาต้องอธิบายรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับไอเดียของตนเอง ความจริงคือ ผู้ฟังไม่ต้องรู้ทุกรายละเอียดตั้งแต่ต้น พวกเขาแค่ต้องเข้าใจแนวคิดหลักก่อน รายละเอียดเชิงลึกสามารถอธิบายในภายหลัง เช่น ในช่วงถาม-ตอบ หรือการประชุมถัดไป ดังนั้นจุดประสงค์ของ presentation คือทำให้พวกเขาสนใจและอยากรู้เพิ่มเติมต่างหาก
- โครงสร้างของการนำเสนอที่ดีต้องตอบคำถาม 4 ข้อ
- มันคืออะไร (What is it?) – อธิบายแนวคิดของเราอย่างชัดเจนที่สะท้อนในด้านปัญหาที่มันแก้ไขได้หรือคุณค่าที่มอบให้
- มันทำงานอย่างไร (How does it work?) – แสดงให้เห็นว่ามันทำงานได้จริง ทั้งในด้านเวลาที่ใช้และกระบวนการดำเนินงาน
- คุณแน่ใจหรือ (Are you sure?) – ใช้ข้อมูลและหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของเรา เช่น ผลลัพธ์ทางการเงินหรือ review จากลูกค้า
- คุณทำได้จริงหรือ (Can you do it?) – แสดงให้เห็นว่าเรามีความสามารถและทรัพยากรในการทำให้มันเกิดขึ้น หรือประสบการณ์หรือทีมงานที่ช่วยทำให้ไอเดียเป็นจริง
- วิธีจัดเรียงโครงสร้างการนำเสนอ 3 นาที
- เปิดการนำเสนอด้วย “เหตุผลที่คุณอยู่ตรงนี้” หรือจุดที่ทำให้ค้นพบแนวคิดใด ๆ ที่จะนำเสนอ
- ตอบคำถาม 4 ข้อ เลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญและน่าสนใจที่สุด อย่าใส่ข้อมูลที่ต้องอธิบายยาวเกินไป หรือลงลึกในรายละเอียดมากเกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิคมากเกินไปในช่วงแรกของการนำเสนอ
- 9 ประโยคสำหรับ “มันคืออะไร”
- 7 ประโยคสำหรับ “มันทำงานอย่างไร”
- 6 ประโยคสำหรับ “คุณแน่ใจหรือ”
- 1 ประโยคสำหรับ “คุณทำได้จริงหรือ”
- ใส่ “All-Is-Lost Moment” แทนที่จะหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของไอเดีย ให้พูดถึงปัญหาที่เราเผชิญแล้วอธิบายว่าเราเอาชนะมันอย่างไร เพื่อแก้ข้อกังขาของผู้ฟัง นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้ฟังไม่ต้องเสียเวลาคิดหาข้อเสียเอง
- ใช้เทคนิค “Hook” หรือจุดเด่นที่ทำให้ไอเดียของเราน่าสนใจ และ “Edge” หรือเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่า Hook ของเราเป็นจริง
- ปิดท้ายด้วย “Callback” คือการย้อนกลับไปยังประเด็นสำคัญในตอนเปิดเพื่อเน้นย้ำจุดแข็งของแนวคิดและเชื่อมโยงข้อมูลในภายหลัง
Never Split the Difference
หนังสือเล่าถึงศิลปะแห่งการเจรจาต่อรองแบบ FBI เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
- การเจรจาต่อรองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ใช้ในห้องประชุมหรือวงการกฎหมาย แต่เกิดขึ้นทุกที่ ดังนั้นการเป็นนักเจรจาที่ดีเริ่มจากการยอมรับว่าการเจรจาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- หลายคนคิดว่า “การพบกันครึ่งทาง” เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี แต่ในความเป็นจริงมันอาจทำให้ทุกฝ่ายไม่พอใจ
- การศึกษาพบว่า การตัดสินใจของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก อารมณ์และสัญชาตญาณ มากกว่าการคิดอย่างมีเหตุผล ดังนั้น หากต้องการเป็นนักเจรจาที่เก่ง ต้องเข้าใจและใช้ประโยชน์จากอารมณ์ของอีกฝ่าย
- การเข้าใจความรู้สึกของคู่เจรจาและใช้มันเพื่อสร้างอิทธิพลช่วยให้เราสามารถเจรจาโดยไม่มีความขัดแย้ง และทำให้คู่เจรจารู้สึกว่าเราอยู่ข้างพวกเขา
- เทคนิคการฟังดังต่อไปนี้คือกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจคู่เจรจา
- Mirroring: ทวนคำพูดของอีกฝ่ายเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจและเปิดใจมากขึ้น
- Labeling: ใช้คำว่า “มันดูเหมือนว่า…” หรือ “มันฟังดูเหมือนว่า…” เพื่อสะท้อนอารมณ์ของคู่เจรจา
- การใช้โทนเสียงที่เหมาะสมช่วยให้ควบคุมสถานการณ์และสร้างบรรยากาศที่ดีในการเจรจา
- คนส่วนใหญ่กลัวคำว่า “ไม่” แต่ในความเป็นจริง “ไม่” เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง เพราะมันช่วยให้ตัวเองมีพื้นที่ในการคิดและลดแรงกดดัน ดังนั้นการทำให้คู่เจรจาพูดว่า “ไม่” ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์
- การกำหนด deadline ทำให้คู่เจรจารู้สึกกดดันและต้องตัดสินใจเร็วขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว deadline สามารถยืดหยุ่นได้
- การพูดว่า “ยุติธรรม (Fair)” ทำให้คู่เจรจารู้สึกว่าพวกเขาต้องปฏิบัติต่อเราอย่างเป็นธรรม
- ใช้เทคนิค Black Swan ในการค้นหาข้อมูลที่ไม่คาดคิดเพื่อสร้างความได้เปรียบ เพราะมันสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของการเจรจาได้ เช่น
- ตั้งคำถามเชิงลึก ถามให้มากกว่าที่อีกฝ่ายคาดคิด
- สังเกตการเปลี่ยนแปลงของภาษากายและน้ำเสียงเพราะอาจบ่งบอกถึงข้อมูลสำคัญ
- ใช้ Mirroring และ Labeling เพื่อกระตุ้นให้คู่เจรจาเปิดเผยข้อมูลโดยไม่รู้ตัว
- สุดท้ายแล้วการเป็นนักเจรจาที่ดีไม่ได้หมายถึงการ “เอาชนะ” คู่เจรจา แต่เป็นการ “สร้างความเข้าใจ” และใช้จิตวิทยาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
The Expectation Effect
หนังสือเล่มนี้พูดถึงความเชื่อที่ว่าความคาดหวัง (Expectation) มีผลต่อประสิทธิภาพและพลังงานของเรา เราสามารถสร้างความเป็นจริงของเราเองผ่านความคาดหวังได้ (กึ่ง ๆ หลอกตัวเองแต่มันช่วยทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อ่ะนะ)
- แนวคิด “จิตเหนือสสาร” (Mind over Matter) มีบทบาทในหลายด้านของชีวิตคนเรา ไม่ว่าจะเป็น
- ด้านกีฬา: นำเรื่องความแข็งแกร่งทางจิตมาช่วยให้นักกีฬาฝ่าขีดจำกัดทางร่างกาย
- ด้านธุรกิจ: คำพูดอย่าง “ถ้าคุณฝันได้ คุณก็ทำได้” เป็นแนวคิดสำคัญของผู้ประกอบการหลายคน
- การแพทย์: คนได้รับ “ยาหลอก” (Placebo) แต่ยังคงรู้สึกดีขึ้นเพราะพวกเขาคาดหวังว่ามันจะได้ผล หรือการได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยหรือแข็งแรงอาจส่งผลต่อความรู้สึกทางร่างกาย
- จากทฤษฎี Ego Depletion บอกว่าเรามีพลังงานจิตที่จำกัด เมื่อเราทำงานหนักหรือใช้สมองมาก เราจะรู้สึกหมดพลังงาน แต่การทดลองของนักจิตวิทยา Veronika Job ได้ข้อสรุปว่า ความเหนื่อยล้าทางจิตเป็นสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นเอง กล่าวคือ
- คนที่เชื่อว่า “การทำงานหนักทำให้หมดแรง” จะทำงานแย่ลงเมื่อเหนื่อย
- แต่คนที่เชื่อว่า “การทำงานหนักช่วยเติมพลัง” จะทำงานได้ดีขึ้นแม้จะทำงานหนัก
- วิธีใช้ Expectation Effect ในชีวิตประจำวัน
- แทนที่จะคิดว่า “ฉันเหนื่อยเกินไป” ให้บอกตัวเองว่า “งานนี้กำลังเติมพลังให้ฉัน”
- เมื่อต้องใช้ยา จินตนาการถึงประโยชน์ของมัน อ่านเรื่องราวของผู้ที่ใช้ยานี้แล้วได้ผลดี เพื่อเสริมความเชื่อ
- ถ้าเราได้รับคำเตือนเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา ให้ focus ที่โอกาสรอดพ้นจากอาการเหล่านั้น
- เชื่อว่าเรายังแข็งแรงและกระฉับกระเฉง ทำกิจกรรมที่ท้าทายตัวเอง หรือเรียนรู้ทักษะใหม่