From Strength to Strength

From Strength to Strength

หนังสือเล่มนี้พูดถึงการใช้ชีวิตหลังจากผ่านจุดสูงสุดแรกของชีวิตไปแล้ว และความหมายของการประสบความสำเร็จเมื่ออายุมากขึ้น

  • ช่วงแรกของชีวิตเราอาจทุ่มเททำงานหนักเพื่อความสำเร็จ แต่เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานหนักอาจไม่ได้ผลแบบเดิม ดังนั้นความหมายของการประสบความสำเร็จเมื่ออายุมากขึ้นมันจึงไม่ใช่การทำงานหนักให้ได้ความสำเร็จเหมือนเดิม แต่คือการปรับความคิดให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและค้นหาความสุขที่ยั่งยืนผ่านคุณค่าที่สร้างให้คนรอบข้าง
  • ความฉลาดมันมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
    • Fluid Intelligence: เป็นความฉลาดที่ช่วยให้เราแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้ไว แต่มักจะลดลงตามอายุ
    • Crystallized Intelligence: เป็นความรู้ที่สะสมมาจากประสบการณ์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นและอยู่กับเราได้นาน ช่วยให้เรานำความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
  • ถ้าอาชีพของเราพึ่งพา Fluid Intelligence เช่น งานวิจัยหรือการสร้างสรรค์ ก็ควรหันไปมองอาชีพที่ใช้ Crystallized Intelligence เช่น การสอนหรือการเป็นที่ปรึกษา เพราะจะช่วยให้เราหาความสุขและความสำเร็จได้ในระยะยาว
  • การที่เรามุ่งหวังแต่ความสำเร็จในอาชีพและลืมที่จะพัฒนาคุณค่าในชีวิต อาจทำให้เรารู้สึกว่างเปล่าเมื่อความสำเร็จไม่อยู่กับเราอีกแล้ว ควรหันไปมองคุณค่าที่ไม่ใช่เรื่องงาน เช่น ความสัมพันธ์กับครอบครัว หรือการเป็นคนใจดี ที่เป็นสิ่งที่อยู่กับเราได้ตลอด
  • เมื่ออายุเยอะขึ้น ให้เลือกทำสิ่งที่สร้างคุณค่าและความสุขที่ยั่งยืน เช่น การใช้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวและเพื่อน หรือตั้งเป้าหมายที่ไม่ต้องอิงกับความสำเร็จในงานมากนัก

Build the Life You Want

Build the Life You Want

หนังสือเล่มนี้แนะนำการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น และการค้นหาความสุขที่ยั่งยืนที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างในชีวิตสมบูรณ์แบบ แต่ขึ้นอยู่กับการที่เราดูแล “เสาหลักสี่อย่าง” ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน งานที่มีความหมาย และจิตวิญญาณ ในชีวิตให้แข็งแรง

1. ครอบครัว

  • ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในชีวิต ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมาย แม้ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ
  • ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การเผชิญและหาทางจัดการกับมันด้วยความเข้าใจ จะช่วยให้ครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น
  • ความเป็นมิตร ความรัก และการสื่อสารที่ดีจะช่วยลด “ความรู้สึกเชิงลบ” ที่เกิดในครอบครัวได้

2. เพื่อน

  • มิตรภาพที่ดีช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจเราในยามยากลำบาก
  • มิตรภาพควรเกิดจากความสนใจร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือความต้องการชั่วคราว
  • ในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ติดต่อกันผ่านเทคโนโลยี การพยายามสร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้งแบบเจอตัวจะช่วยเพิ่มความสุขได้มากขึ้น

3. งานที่มีความหมาย

  • งานที่เรารักหรือมีความหมายจะช่วยให้เรารู้สึกพึงพอใจ แม้ว่าจะเป็นงานที่เหนื่อยหรือยากก็ตาม
  • การหาความหมายในงานไม่ใช่แค่รายได้ แต่รวมถึงการพัฒนาตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นในงานของเรา
  • หากงานปัจจุบันยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที การหาทางพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือการช่วยเหลือคนอื่นก็จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น

4. จิตวิญญาณ

  • จิตวิญญาณไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับศาสนา แต่หมายถึงการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง
  • การฝึกจิตแบบสติและการใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติจะช่วยเพิ่มความสุข ความสงบ และการมีสติ
  • การอยู่กับปัจจุบันและรับรู้ถึงสิ่งรอบตัวช่วยให้เราพบความสุขที่แท้จริงมากขึ้น

The Four Tendencies

The Four Tendencies

หนังสือเล่มนี้พูดถึง “4 นิสัย” ที่บอกถึงวิธีที่แต่ละคนตอบสนองต่อความคาดหวัง ทั้งจากภายนอกและจากตัวเอง นิสัยเหล่านี้ช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รวมถึงวิธีที่เราควรปรับตัวเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น นิสัยทั้ง 4 แบบได้แก่

  • Upholder: คนกลุ่มนี้สามารถรับมือกับทั้งความคาดหวังจากคนรอบข้างและจากตนเองได้ดี ชอบทำตามตารางเวลาและกฎที่วางไว้ แต่บางทีอาจยึดติดกับกฎเกินไป
  • Questioner: คนที่พร้อมจะปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองเห็นว่ามีเหตุผลและเหมาะสม แต่จะตั้งคำถามกับความคาดหวังจากภายนอก เช่น ทำไมต้องทำตามกฎนี้ มีประโยชน์จริงไหม ทำให้พวกเขาเหมาะกับงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์มาก แต่บางครั้งคิดเยอะเกินไปจนตัดสินใจไม่ลง
  • Obliger: คนที่ทำตามความคาดหวังจากคนอื่นได้ดี แต่ลำบากใจที่จะทำตามความคาดหวังของตัวเอง จำเป็นต้องสร้างแรงขับเคลื่อนจากภายนอกเพื่อช่วยให้พวกเขาทำสิ่งที่ต้องการได้ เช่น ต้องการคนที่คอยสนับสนุนหรือรับผิดชอบไปร่วมกัน
  • Rebel: คนที่ไม่ชอบให้ใครมาคาดหวังหรือสั่ง แม้แต่ตัวเอง ต้องการอิสระและทำทุกอย่างที่เป็นตัวของตัวเอง หากได้รับอิสระในการเลือก จะสามารถทำงานได้ดี เพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ควบคุมและตัดสินใจ

การรู้จักนิสัยของตัวเองจะช่วยให้เรารับมือกับข้อดีและข้อเสียได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือความสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น

  • Upholder: ควรให้รายละเอียดและเป้าหมายที่ชัดเจน
  • Questioner: ควรอธิบายเหตุผลให้ชัดเจนและละเอียด
  • Obliger: ควรสร้างความรับผิดชอบจากภายนอกเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามเป้าหมายได้ เช่น การนัดหมายเพื่อไปออกกำลังกายร่วมกับเพื่อน หรือให้มีแรงจูงใจจากการที่ไม่ต้องการทำให้คนอื่นผิดหวัง
  • Rebel: ให้ข้อมูลกับพวกเขาและให้พวกเขาตัดสินใจเอง

จะเห็นว่าไม่มีนิสัยแบบไหนที่ดีกว่าหรือแย่กว่า ทุกนิสัยมีข้อดีของมัน อยู่ที่ว่าเราจะนำความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองยังไง

How to Win Friends & Influence People

How to Win Friends & Influence People

หนังสือเล่มนี้พูดถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารและสร้างมิตรภาพและแนะนำแนวทางในการโน้มน้าวผู้อื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการในสถานการณ์ต่าง ๆ

  • คำชมมีผลมากกว่าการวิจารณ์: หลายครั้งที่การวิจารณ์ทำให้คนป้องกันตัวเองและอาจเกิดความไม่พอใจ การแสดงคำชมอย่างจริงใจเป็นวิธีที่ดีกว่าในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

  • แสดงความสนใจและทำให้คนรู้สึกสำคัญ: คนส่วนมากมักสนใจตนเองมากกว่าสนใจคนอื่น ดังนั้น แทนที่จะพยายามดึงดูดความสนใจ ควรแสดงความสนใจในตัวเขาและทำให้เขารู้สึกมีค่า เช่น จำชื่อพวกเขาและใช้เรียกอย่างตั้งใจ

  • เป็นผู้ฟังที่ดีและฟังอย่างตั้งใจ: การให้โอกาสคนอื่นได้เล่าเรื่องของเขาและฟังด้วยความสนใจ ทำให้เรามีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและลึกซึ้งได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องพยายามยัดเยียดเรื่องของเราให้พวกเขา

  • หากต้องขัดแย้งให้ทำอย่างนุ่มนวล: การปะทะคารมไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มักสร้างความรู้สึกไม่ดี การขอโทษหากเราอาจเข้าใจผิดและพยายามฟังมุมมองของเขาเป็นวิธีที่ดีกว่า

  • เริ่มต้นด้วยคำถามที่คนนั้นตอบว่า “ใช่”: พยายามถามคำถามที่ผู้อื่นตอบว่า “ใช่” ได้ง่าย ๆ เพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาเห็นด้วยกับเรา และเมื่อคุยไปเรื่อย ๆ จะสามารถนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ง่ายขึ้น

  • ลองเข้าใจมุมมองของผู้อื่น: การพยายามมองจากมุมมองของคนอื่น เช่น การใส่ใจว่าเหตุใดเขาถึงมีความเห็นหรือการกระทำเช่นนั้น จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาและเข้าถึงใจเขาได้ดีกว่า

  • ตั้งเป้าหมายสูงและทำให้คนรู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวพวกเขา: การตั้งเป้าหมายและแสดงความคาดหวังที่ดีต่อผู้อื่น เป็นการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้พวกเขาพัฒนาตนเอง เช่น การชื่นชมความพยายามของเขา

  • สร้างบรรยากาศการแข่งขันในที่ทำงาน: หากต้องการสร้างความกระตือรือร้นในทีม การแข่งขันแบบเล็ก ๆ อย่างการประเมินผลงานและประกาศให้เห็นความสำเร็จของพนักงานจะช่วยกระตุ้นพลังและการพัฒนาในทีม

The Art of Explanation

The Art of Explanation

หนังสือเล่มนี้พูดถึงเทคนิคและวิธีการ “อธิบาย” เรื่องบางเรื่องของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้เนื้อหาจะซับซ้อนให้สามารถทำให้ชัดเจน เข้าใจได้ง่ายและน่าจดจำ

  • การอธิบายที่มีประสิทธิภาพต้องประกอบไปด้วย 10 ข้อ ได้แก่
    • Simplicity: ใช้ประโยคที่ตรงประเด็น
    • Essential details: ให้ข้อมูลที่จำเป็น
    • Complexity: ความซับซ้อนของเนื้อหาต้องพอเหมาะ
    • Efficiency: ใช้คำให้น้อยแต่ตรงใจความ
    • Context: ใส่เหตุผลหรือภาพรวมเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความสำคัญของเนื้อหา
    • Engagement: ระบุจุดที่อาจทำให้ผู้ฟังเบื่อและปรับปรุงให้ดึงดูด
    • Memorable: เน้นให้ผู้ฟังเข้าใจจุดสำคัญของเราได้ทันที
  • หนังสือแนะนำให้เราเริ่มจากการถามคำถาม 5 ข้อเพื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยให้เรากำหนดคำอธิบายที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    1. ใครคือผู้ฟัง รวมไปถึงอายุ หรือ ความสนใจของเขา
    2. พวกเขารู้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
    3. พวกเขาชอบรับข้อมูลแบบไหน เช่น ชอบฟังสั้น ๆ หรือ ชอบรายละเอียด
    4. จะทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงกับเขาได้อย่างไร
    5. เราจะสร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างไร
  • 7 ขั้นตอนในการเตรียมการอธิบายที่ดี
    1. ตั้งประเด็นหลัก: ระบุว่าต้องการอธิบายเรื่องอะไรและให้ใครฟัง
    2. รวบรวมข้อมูล: ค้นหาข้อเท็จจริงและข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น สถิติหรือผลทดสอบ
    3. กลั่นกรองข้อมูล: ตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกเพื่อความชัดเจน
    4. เรียงข้อมูล: จัดลำดับข้อมูลให้อยู่ในลำดับที่เหมาะสม
    5. เชื่อมโยงข้อมูล: ใช้คำเชื่อมเพื่อให้ผู้ฟังติดตามได้ง่าย
    6. กระชับให้คม: แก้ไขคำพูดให้ตรงประเด็น และคัดคำที่ไม่จำเป็นออก
    7. เน้นที่การนำเสนอ: เช่น การใช้ภาพหรือกราฟเพื่อลดความซับซ้อน และการฝึกซ้อมเพื่อลดความประหม่า
  • หากต้องอธิบายในสถานการณ์ที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ควรเตรียมประเด็นหลักไว้ล่วงหน้า โดยยังคงใช้หลัก 7 ขั้นตอนข้างต้น แต่ทำให้เรียบง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเตรียมข้อมูลที่สำคัญในประเด็นหลัก ซึ่งเป็นข้อมูลที่จดจำได้ง่ายและนำเสนอได้คล่อง

  • ในสถานการณ์ที่ต้องพูดหรือเขียนให้สั้น ควรใช้เทคนิค “BLUF” (Bottom Line Up Front) ซึ่งหมายถึงการบอกจุดสำคัญของเนื้อหาตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านเข้าใจใจความสำคัญได้ทันที

  • คำอธิบายที่ดีควรเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้ฟัง เช่น ใช้คำว่า “ในฐานะ(XX) คุณอาจสนใจในเทคนิคนี้” เพื่อให้ดูมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ คำอธิบายต้องดูน่าเชื่อถือด้วยการแสดงความเป็นมืออาชีพหรือประสบการณ์ของเรา เพื่อให้ผู้ฟังมั่นใจในสิ่งที่เรานำเสนอ