Surrounded by Setbacks

Surrounded by Setbacks

จากผู้เขียนคนเดียวกับ Surrounded by Idiots หนังสือเล่มนี้พูดถึงการอยู่กับอุปสรรคและความล้มเหลวในชีวิต

  • เราไม่สามารถผ่านอุปสรรคในชีวิตเพียงแค่ “คำพูด” และ “ความฝัน” เท่านั้น แต่ต้องเกิดจาก “การ(เริ่ม)ลงมือทำ” เดี๋ยวนี้
  • พอเราเจออุปสรรคเราอาจจะโทษคนนู้นคนนี้ หรือไม่ก็โชคชะตา แต่ถ้าเราอยากจะเติบโตผ่านอุปสรรคและล่าความฝันได้ เราจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต 100% ไม่ว่าเราจะเป็นคนทำหรือไม่ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรอ “ใครสักคน” หรือ “โชคชะตา” มาพาเราผ่านช่วงเวลานี้ไปได้
  • สิ่งสำคัญที่เราต้องเรียนรู้คือวิธีการรับมือกับความกลัวและวิธีการเผชิญหน้ากับอุปสรรค (ไม่หนี) เริ่มจากตั้งเป้าหมายและลงมือทำในสิ่งเล็ก ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชินก่อน ผลคือ comfort zone ของเราจะขยายออกและจุดนี้แหละคือจุดที่เราจะได้เรียนรู้และเติบโต
  • ทำความเข้าใจกับตัวเองว่าเรามีวิธีการเผชิญหน้ากับอุปสรรคอย่างไรซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน และแต่ละวิธีก็มีจุดแข็ง-จุดอ่อนแตกต่างกันไป พอเราเข้าใจตนเองแล้วเราก็จะเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง
    • บางคนก็พุ่งชนไปเลยโดยไม่สนว่าคนอื่นจะคิดยังไง ปัญหาคือถ้าอุปสรรคนั้นต้องใช้ทีมแล้วจะสู้ยังไง ดังนั้นพวกเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะอดทนและรับฟังคนอื่นบ้าง
    • บางคนก็ใช้การมองโลกในแง่ดีเข้าสู้ ปัญหาคือพอไม่วางแผนแล้วก็มีโอกาสที่ล้มเหลวด้วยเรื่องเล็กน้อย ดังนั้นพวกเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะวางแผนบ้าง
    • บางคนต้องมีเพื่อนเพื่อช่วยกันผ่านพ้นไป ปัญหาคือในสถานการณ์ฉายเดี่ยวแล้วจะไม่กล้าชนเพราะต้องรอเพื่อนก่อน ดังนั้นพวกเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะลุยด้วยตนเอง
    • บางคนก็วางแผนและกลยุทธิ์เป็นเหตุเป็นผล ปัญหาคือไม่ได้ลงมือทำสักทีเพราะมัวแต่วางแผน ดังนั้นพวกเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะกล้าลองผิดลองถูกบ้าง
  • เมื่อเราเจออุปสรรคเป็นธรรมดาที่เราจะท้อแท้ เหนื่อย หมดหวัง มองไม่เห็นแม้แต่เส้นชัย ในเมื่อ “ความสำเร็จ” ที่เกิดจากผ่านอุปสรรคเป็นของเรา ขอให้เรา
    • ย้ำกับตัวเองตลอดว่า “ทำไมเป้าหมายนี้สำคัญ”
    • ฉลองให้กับมันไม่ว่าจะมันจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม
    • เลือกเพื่อนร่วมทางที่จะเชื่อมั่นในตัวเราและสามารถแก้จุดอ่อนตามวิธีการเผชิญหน้ากับอุปสรรคข้างบน
    • อย่าไปสนใจว่า “ความสำเร็จ” ของคนอื่นเมื่อเทียบกับของเราเป็นยังไง

หนังสือที่อ่านไปแล้วพบว่าคล้าย ๆ กับเล่มนี้: Rejection Proof

The Find Art of Small Talk

The Find Art of Small Talk

หนังสือเล่มนี้พูดถึงทักษะการชวนคุยในเวลาที่ต้องคุยกับคนไม่คุ้นเคยโดยไม่ให้ใบ้รับประทาน หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ฝึกฝนกันได้ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ถ้าเกิดมาแล้วไม่มีคือจบสิ้น

  • สิ่งแรกก็ต้องเริ่มทำเลยคือเลิกกลัวการ “ปฏิเสธ” เพราะคนส่วนใหญ่ดีใจเมื่อเราพยายามที่จะพูดคุยกับพวกเขา ไม่งั้นพวกเขาจะดูเป็นคน “หยิ่ง” หรือ “ตึงเครียด”
  • ก่อนชวนคุย ให้เริ่มจากการสบตา ยิ้ม แนะนำตัว จ้องตาขณะพูดคุย แต่อย่าให้ดูโรคจิตเกินไป ฮ่า ๆๆ
  • จินตนาการว่าตัวเองเป็นพิธีกรเพื่อฝึกควบคุมการสนทนาให้ลื่นไหล เช่น พูดชื่อคนที่เราคุยด้วย เวลามีคนอื่นมาร่วมวงให้เราแนะนำตัวคนอื่นให้คนใหม่รู้จัก และเตรียม “icebreaker” มาล่วงหน้าซึ่งอาจจะเกี่ยวกับกิจกรรมในวันนั้นหรืองานอดิเรกหรือสิ่งรอบ ๆ ตัว อะไรก็ได้ที่คนร่วมสนทนาสามารถ share ได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ
  • หลังจาก icebreaker แล้วให้เราถามลึกลงไปด้วยคำถามปลายเปิดที่คนตอบจะไม่รู้สึกคิดว่า “มึงเป็นนับสืบป่ะวะ” เช่น แทนที่จะถามแค่ว่า “ไปงานเลี้ยงมาวันนี้เป็นไง” ก็ให้ถามต่อไปว่า “แล้วชอบอะไรที่สุดในงานเลี้ยงนั้น” ในทางกลับกันหากเราเป็นคนตอบ ก็ให้คำตอบที่เป็นตัวอย่างที่เราอยากได้ยินเหมือนกัน ไม่ใช่ตอบส่ง ๆ “ก็ดี”
  • แต่ในท้ายที่สุดมันก็มีจังหวะ “dead air” ที่ทุกคนเงียบกันหมด อย่าได้รอให้คนอื่นพูดต่อแต่ให้ถามต่อด้วยคำถามปลายเปิดใหม่ด้วย** FORM (family, occupation, recreation and miscellaneous)** ถ้ายังไม่คิดออกก็ให้สังเกตสิ่งรอบตัว เช่น สถานที่ เครื่องแต่งกาย หรือความเกี่ยวข้องระหว่างเขากับงานที่เขามาเข้าร่วม
  • ระวังการเปิดประเด็นด้วยเรื่องละเอียดอ่อน อย่างเช่น ศาสนา การเมือง รวมถึงเรื่องที่เราจำได้จากการสนทนาครั้งก่อนเพราะชีวิตคนเราเปลี่ยนไปตลอด เขาอาจจะตกงานหรือเลิกกับแฟนไป ทำให้การสนทนากร่อยเอาได้
  • ตั้งใจฟังคู่สนทนา สบตา หรือทวนสิ่งที่เขาพูดเพื่อเข้าใจตรงกัน หลีกเลี่ยงภาษากายอย่างเช่น กอดอก ก้มคอ แกะเกาเสื้อผ้าตัวเอง
  • เวลาจบการสนทนา อย่าลืมเน้นสิ่งที่น่าสนใจจากการสนทนา ถ้าอยากคุยต่อก็อย่าลืมแลกช่องทางติดต่อกัน จะดีมากถ้าหาเพื่อนคุยให้เขาต่อก่อนเราขอตัว สำคัญคือถ้าเราขอตัวไปทำอย่างอื่นก็ให้ทำอย่างนั้นจริง ๆ อย่าไปเริ่มคุยกับคนอื่นทันทีเพราะเดี๋ยวเขาจะคิดว่าเราไม่ชอบเขา

Radical Candor

Radical Candor

หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือให้กับเหล่าหัวหน้าที่ต้องการจะสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เค้นศักยภาพของทุกคนออกมาอย่างเต็มที่โดยที่ทุกคนยังเต็มใจที่จะเดินร่วมทางไปกับหัวหน้า

  • โดยปกติแล้วหัวหน้าจะมีพฤติกรรมอยู่ทั้งหมด 4 รูปแบบ แบ่งตามความเอาใจใส่ลูกน้องและการพูดกับลุกน้องอย่างตรงไปตรงมา
    • Obnoxious Aggression: ตรงแต่ไม่แคร์ พูดจาขวานผ่าซากไม่ถนอมน้ำใจ
    • Ruinous Empathy: แคร์แต่ไม่ตรง เป็นห่วงเป็นใยแต่ไม่กล้าบอกตรง ๆ เพราะกลัวกระทบความสัมพันธ์ พอลูกน้องไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ งานออกมาไม่ดี ก็ระทบความสัมพันธ์อยู่ดี
    • Manipulative Insincerity: ไม่ตรงและไม่แคร์ ไม่พูดตรง ๆ เพราะอยากรักษาชื่อเสียงตนเองไว้ อนาคตลูกน้องเป็นยังไงก็ช่างแม่ง มันชอบเราก็เป็นพอ
    • Radical Candor: แคร์และตรง เราแคร์เพื่อให้อีกฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราจะบอกตรง ๆ หลังจากนี้เป็นความปรารถนาดี ทำให้ลูกน้องเปิดใจรับฟังเรามากขึ้น
  • ในฐานะหัวหน้า ถ้าอยากให้ทีมเป็นเหมือนกับข้างต้น เราจะแสดงตัวอย่างให้พวกเขาเห็น
    • ถ้าอยากให้ทีมให้ feedback กันตรง ๆ ก็แสดงให้ดู เช่น ถามคำถามกับลูกน้องว่า “สิ่งที่เราอยากจะปรับปรุงคือ… คุณช่วยเราได้ไหม” หรือ “เราต้องทำอะไรบ้างที่ช่วยคุณทำงานกับเราง่ายขึ้น”
    • ถ้าอยาให้ทีมรับ feedback กัน ก็แสดงให้ดูโดยใช้หลักการ HHIIPP และ CORE จุดประสงค์คือแยกความเชื่อออกจากตัวตนของลูกน้อง พอลูกน้องมองเหตุการณ์ในฐานะบุคคลที่ 3 โอกาสที่ลูกน้องจะปกป้องตัวเองจาก feedback ก็จะน้อยลง
  • ในฐานะหัวหน้า เราสามารถแคร์ลูกน้องได้ด้วยการพูดคุยกับพวกเขาทีละคนโดยครอบคลุม 3 หัวข้อ
    • Life story: เรื่องราวชีวิตของเขา สังเกตเส้นทางและเหตุผลที่เขาเลือกเดินไปทางนั้น เพื่อเข้าใจว่าคน ๆ นั้นเขาต้องการอะไร
    • Dream: ความฝันว่าหน้าที่การงานสูงสุดจะมีหน้าตาเป็นยังไง เพื่อช่วยเขาสร้างแผนที่ในการเดินทางไปสู่ความฝันนั้น
    • 18-month plan: พูดคุยเพื่อแนะนำแผนที่ให้กับเขาว่าต้องทำอะไรยังไงบ้าง
  • ในฐานะหัวหน้า ถ้าอยากให้ผลลัพธ์ของชิ้นงานออกมาดีด้วยน้ำพักน้ำแรงของทุกคน ให้ใช้หลักการ Get Shit Done Wheel โดยอย่าให้ทีมข้ามขั้นหรือติดหล่มอยู่ในขั้นตอนใดขั้นตอนนึงนานเกินไป
  • ในฐานะหัวหน้า เมื่อเกิดการถกเถียงกันในทีมซึ่งเป็นหนึ่งใน Get Shit Done Wheel สิ่งที่เราควรทำคือ
    • เน้นย้ำว่าจุดประสงค์ของการถกเถียงกันคือเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดไม่ใช่แสดง ego ใส่กันและกัน
    • กระตุ้นให้เกิดความเห็นต่าง เพราะถ้าทุกคนเห็นตรงกันหมดตั้งแต่แรกแปลว่าเราอาจจะพลาดประเด็นอะไรที่สำคัญแต่ไม่ได้ทักท้วงขึ้นมา
    • สร้างบรรยากาศที่สนุกสนานและการถกเถียงจะจบก็คือจบ
    • อย่าได้ตัดสินใจเพียงเพราะเกรงใจทุกคนเถียงกันเป็นฟืนเป็นไฟ

Crucial Conversations

Crucial Conversations

หนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งคู่มือจะสร้างเกราะให้สมองในการเผชิญกับ “crucial conversations” หรือบทสนทนาที่มีความตึงเครียดและอารมณ์ร่วมที่สูงที่มันมักจะมาโดยไม่รู้ตัว เพื่อนร่วมงานของเราเขียนสรุปไว้แล้วใน Medium

Can’t Hurt Me และ Never Finished

David Goggins

หนังสือ 2 เล่มนี้พูดถึงชีวิตของ David Goggins ที่ผ่านความยากลำบากมามากมายกว่าจะประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ได้

  • ในชีวิตของเราจะเจอกับอุปสรรคไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่เป็นเรื่องปกติ แต่ภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน นั่นเป็นสาเหตุบางคนไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องราวแย่ ๆ ในชีวิตได้ รู้สึกสงสารชีวิตตนเองทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ โชคชะตาไม่เข้าข้างเลย สุดท้ายก็ยอมรับกับชะตากรรมนั้นไปตลอดชีวิต ขอให้เข้าใจใหม่ว่าถึงแม้เราจะไม่สามารถควบคุมสิ่งเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถควบคุมว่าเราจะตอบสนองกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรต่างหาก นั่นคือก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็ก ๆ แต่ขอให้ก้าวย่างสม่ำเสมอ มันดีกว่านั่งอยู่เฉย ๆ แล้วให้สิ่งเหล่านั้นคุมบังเหียนชีวิตของเราแน่นอน
  • จงเผชิญหน้ากับเรื่องราวแย่ ๆ ในชีวิตนั้นและใช้มันเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้า เช่น เป็นแรงให้เราเดินตามฝันเพื่อพิสูจน์ว่าคนอื่นคิดผิด เป็นแรงให้เรากลับมามองตัวเองระหว่างทางว่าเราเดินมาได้ไกลขนาดไหนแล้ว แต่อย่าได้หนีหรือซ่อนจากมันเพราะเราจะไม่ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองว่ามันมีมากกว่าเรื่องเหล่านั้น
  • เมื่อเราเจอกับอุปสรรคมันจะมีถึงจุดนึงที่เราสู้ ๆ ไปแล้วก็ไม่ได้อะไรกลับมา เกิดความเคลือบแคลงใจในตนเอง และช่วงเสี้ยววินาทีนั้นแหละที่จะเราทำให้ไปไม่ถึงฝัน คนส่วนใหญ่ใช้ศักยภาพเพียงแค่ 40% เท่านั้นเพราะไม่สามารถควบคุมสมองให้กัดฟัน อดทน และสู้ต่อเมื่อต้องเจอกับความเครียดและความเจ็บปวด ขอให้เราใช้ช่วงเวลานั้นหยุดคิดกับตัวเองว่า “เราจะยอมแพ้เพราะว่ามันเครียดมันเจ็บปวดใช่ไหม” ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ให้เราตัดสินใจสู้ต่อ
  • ในบางครั้งชีวิตมันโหดร้ายหลอกเราว่าเราถึงเส้นชัยแล้ว ความเจ็บปวดจะมลายหายไป ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงไหนเลยด้วยซ้ำ ผลคือเราก็จะผิดหวัง วิธีแก้เลยคืออย่าได้โหยหาเส้นชัยเพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันจะต้องจบ และ focus กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแทน
  • วินัยไม่ได้เกิดจากการเข้ากรมทหาร แต่เกิดจากการที่เราเริ่มลงมือทำบางสิ่งด้วยความสามารถทั้งหมดที่มีโดยไม่ล้มเลิกไปกลางคัน พอเราลงมือทำซ้ำ ๆ ก็เกิดกาเรียนรู้และสามารถทำสิ่งเดิมได้โดยใช้แรงน้อยลง ทำให้เราสามารถทำได้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ และจุดนี้แหละที่จิตใจเราจะเข้มแข็งขึ้นเพราะเราจะเลิกใส่ใจแล้วว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเราเพราะมัวแต่ focus กับแรงกายแรงใจเพื่อทำบางสิ่งให้สำเร็จ
  • การลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ต่ำเตี้ยเรี่นดินเมื่อเทียบกับฝันที่สูงส่ง จงใช้ช่วงเวลานั้นในการฝึกซ้อมเผชิญหน้ากับความกลัว
  • ไม่ว่าเราจะก้าวข้ามจุดต่ำสุดได้ไกลเท่าไร สักวันเราจะต้องเจอกับความล้มเหลวและบ่อยครั้งก็เกิดจากสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ จงใช้ความล้มเหลวนั้นเป็นบทเรียนเกี่ยวกับตนเอง และเป็นการเสริมเกราะป้องกันให้กับอุปสรรคใหม่ในภายภาคหน้า
  • ความคาดหวัง ค่านิยมขององค์กรหรือสังคมเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เราก้าวไปสู่ศักยภาพที่สูงที่สุดของเรา ถ้าอยากก้าวไปถึงจุดนั้นให้เรามากกว่าความคาดหวังนั้น ๆ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบหรือเป็นสิ่งที่หลุดจากกรอบของสังคมที่ตีตราเราไปแล้วว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทั้งหมดที่ทำไม่ใช่เพื่อแสวงหาคำชม ชื่อเสียง หรือเงินทองที่เพิ่มขึ้น แต่เพื่อให้เรารู้ว่าเราผลักดันตนเองไปได้ไกลมากขนาดไหน และสิ่งที่เรยนรู้นั่นแหละเขาเรียกว่า “การเติบโต (growth)”
  • เลือกสังคมและคนที่เราอยู่ด้วยแล้วเขาเชื่อและเห็นในศักยภาพของเรา ผลักดันเราให้ไปสู่เป้าหมายได้ ไม่ใช่คนที่คอยแต่ปลอบใจว่า “ไม่เป็นไร เอาไว้ทีหลัง” ถึงแม้เราจะรู้สึกดีขึ้นก็ตามแต่จริง ๆ แล้วชีวิตเราไม่ได้ดีขึ้นเลย