สิ่งที่ได้จากการไปเข้า training เกี่ยวกับ Crucial Conversations
Crucial Conversations คืออะไร ทำไมมันถึงสำคัญกับชีวิตของเรา
บางครั้งเราอาจเจอปัญหาที่วนเวียนซ้ำ ๆ เช่น ขัดแย้งกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมทีม ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด หรือการสื่อสารที่ผิดพลาด สิ่งเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับการสนทนาที่เรียกว่า “Crucial Conversations” ก็เป็นได้
Crucial Conversations คือ การสนทนาที่เกิดขึ้นแล้วสถานการณ์เข้าเงื่อนไข 3 ข้อดังนี้
- มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน
- มีผลกระทบสูง เช่น ความสำเร็จของงานหรือความสัมพันธ์
- มีอารมณ์ร่วมสูง เช่น ความหงุดหงิดหรือความโกรธ
วิธีที่เราจัดการกับการสนทนาเหล่านี้สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของ
- ประสิทธิภาพการทำงาน: ทีมที่พูดคุยกันอย่างเปิดเผยมีความคิดสร้างสรรค์และทำงานร่วมกันได้ดีกว่า
- ความสัมพันธ์: ช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มความเข้าใจกันในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน
- สุขภาพจิต: การจัดการความขัดแย้งช่วยลดความเครียดและสร้างสมดุลในชีวิต
หลุดพ้นจากทางตัน
“When it matters most, we often do our worst—we either don’t hold conversations, or we don’t hold them well.”
ทุกครั้งที่เรารู้สึกติดขัดในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือความสัมพันธ์ มันมักเกิดจากการที่เรา
- เงียบ ไม่ได้พูดในสิ่งที่ควรพูด (Silence)
- เราโต้แย้งด้วยอารมณ์ หรือใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจ หรือพูดออกไปในแบบที่สร้างปัญหาเพิ่ม (Verbal Violence)
ทั้ง 2 วิธีนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และมักจะทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลง ลองจินตนาการว่าตอนเด็ก ๆ เราเคยใช้วิธีอะไรบ้างในการเอาชนะใจคนอื่น? บางคนอาจร้องไห้ บางคนอาจโกรธจัด และบางคนเลือกที่จะเงียบ ตอนโตขึ้น เราเปลี่ยนวิธีเหล่านั้นหรือเปล่า ซึ่งหลายคนพบว่าวิธีการของเรามักยังคงล้าหลัง ไม่ได้ช่วยให้เราบรรลุผลลัพธ์ที่เราต้องการจริง ๆ เช่น จากตอนเด็ก ๆ ที่ร้องไห้กลางห้าง โตมาก็เปลี่ยนไประบายใน social media แทน เป็นต้น
อีกอย่างคือหลีกเลี่ยงเลือกเส้นทางมัดมือชก (Fool’s Choice) หรือทางเลือกที่ทำให้เราต้องเลือกระหว่าง ความตรงไปตรงมา กับ ความเคารพ แม้ว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จากสัญชาตญาณเมื่อ Adrenaline มันหลั่ง (fight-or-flight) เราสามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาโดยเคารพคนฟังได้
Crucial Conversations แบ่งปัญหาที่ยกขึ้นมาในบทสนทนาออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน (CPR) ได้แก่
- Content: ปัญหาที่เกิดจากการกระทำหรือผลที่เกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์นึง
- Pattern: ปัญหาที่เกิดจากการกระทำหรือผลที่เกิดจากหลาย ๆ เหตุการณ์คล้าย ๆ กัน
- Relationship: ปัญหาที่เกิดแล้วมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์
จงเลือกบทสนทนาจาก 1 ใน 3 (C, P หรือ R) หรืออาจจะเป็น CR หรือ PR ก็ได้ ถัดไปก็คือความยากในการเริ่มบทสนทนาแล้วเพราะว่า
“Most persistent, resistant problems are caused by a failure to address issues at the pattern or relationship level.”
กลยุทธ์เพื่อสร้าง Crucial Conversations ที่ดี
ใจความสำคัญของกลยุทธิ์และ technique ต่าง ๆ ในการสร้าง Crucial Conversations ที่ดีคือ
การเปลี่ยนวิธีคิดและการสื่อสารของ “เรา”
เพราะการสนทนาสำคัญไม่ได้เกี่ยวกับ “ฉัน” หรือ “เขา” แต่มันเกี่ยวกับ “เรา”
1. เล่าเรื่องให้ตัวเองฟังอย่างมีสติ (Master My Stories)
“When our emotions kick in, we act our worst, and we think it’s not our fault.”
เมื่อเราเจอสถานการณ์ที่ทำให้อารมณ์พุ่งสูง เรามักเล่าเรื่องราวในหัวที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เช่น คิดว่าอีกฝ่ายไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ใส่ใจ เรื่องราวเหล่านี้ต่างหากส่งผลต่ออารมณ์และการกระทำของเรา ไม่ใช่สิ่งที่อีกฝ่ายพูดหรือกระทำ
Crucial Conversation แบ่งเรื่องราวที่ “ดูเหมือนจะดี” ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน
- Victim Stories: เล่นบทเหยื่อดังนั้นฉันไม่ผิด เช่น “นี่มันไม่ใช่ความผิดของฉัน”
- Villain Stories: โยนความผิดให้ใครสักคน เช่น “ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าไอโง่นั้นทำพลาดอีกแล้ว”
- Helpless Stories: ฉันทำอะไรไม่ได้แล้ว เช่น “ถ้าตะกี้ฉันไม่ขึ้นเสียงนะ เขาก็คงไม่ฟังฉัน”
ซึ่งไอคำว่า “ดูเหมือนจะดี” ก็หมายความว่าเราใช้เรื่องราวเพื่อทำให้ความผิดของเราเป็นถูกขึ้นมา
วิธีแก้ก็คือแยก ข้อเท็จจริง ออกจาก เรื่องราวที่เราสร้างขึ้น เช่น
- สถานการณ์: เราอยากจะคุยกับเพื่อนร่วมงานที่มาสาย สัปดาห์นี้มาสายไป 3 ครั้ง
- ข้อเท็จจริง: “เพื่อนร่วมงานมาสาย 3 ครั้งในสัปดาห์นี้”
- เรื่องราว: “เขาไม่สนใจงานและไม่เคารพทีม”
จากนั้นถามตัวเองว่า “สิ่งที่ฉันคิดเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดที่เราสมมติขึ้น?” หรือ “มีมุมมองอื่นที่เป็นไปได้ไหม?” การตั้งคำถามเหล่านี้ช่วยลดอารมณ์ที่รุนแรงลงและเตรียมเราให้พร้อมสำหรับการสนทนาที่ดี
มี 2 สิ่งที่หลายคนผิดพลาดในการเล่าเรื่องราวให้ตัวเองฟังในหัว
- เมื่อขาดข้อมูลและข้อเท็จจริง เรามักจะเล่าเรื่องราวที่ไปในทางลบมากที่สุดเสมอ
- เราคิดว่าเรื่องราวที่เราเล่าในหัวนั้นเป็นข้อเท็จจริงเสมอ
ปิดท้ายด้วยการเปลี่ยนอารมณ์โดยการปรับมุมมอง เช่น
- เมื่อรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายผิด (Victim) ลองถามตัวเองว่า “บทบาทของเราในสถานการณ์นั้นคืออะไร?”
- เมื่อรู้สึกว่าอีกฝ่ายผิด (Villain) ลองถามตัวเองว่า “เหตุผลอะไรที่เขาถึงทำแบบนี้ในมุมของเขา?”
- หากคิดว่าไม่มีทางออก (Helpless) ลองถามตัวเองว่า “ฉันจะทำอะไรได้ตอนนี้เพื่อเข้าใกล้สิ่งที่ต้องการมากขึ้น?”
2. เริ่มต้นด้วยการเปิดใจกับตัวเอง (Start with Heart)
“The first thing that deteriorates during a Crucial Conversation is not our behavior (that comes second) but our intent.”
การ “เปิดใจ” ที่ว่านั้นก็คือการตอบกับตัวเองว่า “เจตนา” ของการสนทนาที่จะเกิดขึ้นของเรามันคืออะไร ซึ่ง “เจตนา” มันก็มีทั้งดีและไม่ดี
เจตนาที่ไม่ดี
- “ฉันถูกต้องเสมอ”
- “ฉันต้องดูดีไว้ก่อน รักษาภาพลักษณ์ไว้”
- “ฉันต้องชนะอีกฝ่าย”
- “ฉันต้องดุด่าตำหนิอีกฝ่าย”
- “ฉันต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง”
- “ฉันต้องเป็นคนคุมสถานการณ์”
เจตนาที่ดี
- “เราค้นหาข้อเท็จจริง”
- “เราเรียนรู้ร่วมกัน”
- “เรามาหาข้อสรุปที่ win-win”
- “เรามาสร้างผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว”
- “เรามาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แน่นแฟ้นมากขึ้น”
ก่อนจะเริ่มสนทนา ให้ถามตัวเองว่า:
- “ฉันทำอะไรที่มันสื่อเจตนาของฉันไป?”
- “ฉันต้องการอะไรสำหรับตัวเอง?”
- “ฉันต้องการอะไรสำหรับคนอื่น?”
- “ฉันต้องการอะไรสำหรับความสัมพันธ์นี้?”
การตั้งเป้าหมายที่ดีช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือพูดในสิ่งที่ไม่เหมาะสม
หลังจากที่เราได้ “เจตนาที่ดี” มาแล้วให้เริ่มบทสนทนาด้วยการแชร์เจตนาเหล่านั้นก่อนเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรา “care” เขา เช่น
- “ฉันมี feedback เกี่ยวกับ new joiner นะ แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วเป็นการตัดสินใจของคุณ ฉันแค่อยากให้คุณทราบถึงความกังวลของฉันไว้ด้วยในระหว่างที่คุณพิจารณา”
- “หวัดดี ฉันอยากคุยอะไรบางอย่างด้วย มันเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจมาสักพักแล้ว และฉันคิดว่าถ้าเราช่วยกันดูเรื่องนี้ น่าจะหาทางออกได้ก่อนที่มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่”
- “ฉันอยากบอกว่าคุณทำหน้าที่ได้ดีมากจริง ๆ ฉันอยากเห็นคุณเติบโตในแผนกนี้ และประสบความสำเร็จอย่างที่คุณตั้งเป้าไว้ และฉันมีไอเดียบางอย่างที่คิดว่าน่าจะช่วยให้คุณทำได้”
- “ฉันอยากคุยเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันศุกร์ เรารักกันและฉันอยากให้เราพูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งที่กระทบความสัมพันธ์ของเรา เพราะความสัมพันธ์ของเราสำคัญที่สุดสำหรับฉัน เรามาคุยกันได้ไหม?”
3. พูดอย่างตรงไปตรงมาแต่เคารพ (State My Path)
“During Crucial Conversations, we say things in exactly the wrong way.”
ใช้วิธีการ 3 ขั้นตอน
- เริ่มจากบอกข้อเท็จจริง: “ฉันสังเกตว่าคุณมาสาย 3 ครั้งในสัปดาห์นี้”
- เล่าเรื่องราวของเรา: “ฉันรู้สึกว่ามันอาจส่งผลต่อทีมและเป้าหมายของเรา”
- ถามความคิดเห็นของอีกฝ่าย: “คุณคิดว่าเราจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร?”
เคล็ดลับ:
- แชร์ข้อเท็จจริงให้พอที่จะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์ในมุมมองของเราชัดเจน แต่ไม่ต้องแชร์เยอะเกินไป เพราะบางครั้งน้อยก็มาก
- เล่าในฐานะ “เรื่องราว” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” (หลีกเลี่ยงการพูดว่า “ความจริงก็คือ…”)
- อย่าพูดให้ความคิดเห็นดูเหมือนเป็นคำตอบเดียวที่ถูกต้อง เช่น “ทางเลือกเดียวที่สมเหตุสมผลคือ…” หรือ “ทุกคนรู้ว่าเราควรจะ…”
- หลีกเลี่ยงคำพูดแนวสุดโต่ง เช่น “ตลอดเวลา” หรือ “ไม่เคยเลย”
- ระวังคำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ เช่น “คนโกหก” หรือ “คนล้มเหลว” (แม้ว่าจะมีมูล การเรียกเขาว่าโกหกจะช่วยการสนทนาให้มันดีได้หรอ?)
- เมื่อเราแสดงเจตนาที่ดีออกมา อย่าลืมว่าสิ่งที่พูด น้ำเสียง และภาษากาย จะสะท้อนถึงความตั้งใจที่จะมีบทสนทนาในเชิงสร้างสรรค์
- ถ้าต้องเขียนเป็นข้อความเพื่ออธิบาย ให้เขียนสองรอบ รอบแรกเขียนเพื่อสื่อสารสิ่งที่อยากบอกให้ครบ จากนั้นอ่านข้อความช้า ๆ และนึกภาพว่าผู้อ่านจะรู้สึกอย่างไรในแต่ละจุด แล้วแก้ไขข้อความให้ชัดเจนและสะท้อนเจตนาที่ดี
4. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบทสนทนา (Make It Safe)
“People go to silence or verbal violence when they feel unsafe.”
คนปิดใจหรือโต้กลับในบทสนทนาเพราะพวกเขารู้สึกว่า
- เป้าหมายของตัวเองถูกละเลย
- ไม่ได้รับความเคารพ
วิธีสร้างความปลอดภัย
- พักการสนทนาเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นปัญหาไว้ก่อน
- แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราและเขามีเป้าหมายร่วมกัน (Seek Mutual Purpose)
- แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเราให้เกียรติเขาในฐานะบุคคล (Seek Mutual Respect)
- กลับมาที่บทสนทนาเดิม
หากอีกฝ่ายเข้าใจผิด ให้ใช้คำพูดที่ขัดแย้งสิ่งที่เขาคิด (Contrasting) เช่น
- “สิ่งสุดท้ายที่ฉันอยากทำคือการทำให้คุณรู้สึกว่าฉันไม่เห็นคุณค่าของงานที่คุณทำ หรือไม่อยากแชร์งานนี้ให้ VP ได้เห็น ฉันคิดว่างานของคุณยอดเยี่ยมมากจริง ๆ และฉันอยากแชร์ไอเดียบางอย่างที่จะช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้นไปอีก”
- “ฉันไม่ได้อยากให้คุณออกจากทีม การมีคุณอยู่ในทีมสำคัญมากจริง ๆ ฉันอยากคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ฉันสังเกตเห็นเกี่ยวกับการส่งงานตามกำหนดเวลาและการมีส่วนร่วมใน project ฉันอยากหาวิธีที่เหมาะกับเราทั้งคู่มากขึ้น”
- “ฉันไม่ได้จะบอกว่านี่เป็นปัญหาของคุณ ความจริงคือฉันคิดว่ามันเป็นปัญหาของเรา ฉันไม่ได้พยายามโยนภาระให้คุณ และฉันเองก็ยังไม่รู้คำตอบที่ชัดเจน สิ่งที่ฉันอยากได้คือโอกาสพูดคุยเพื่อให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ฉันเปลี่ยนวิธีการตอบสนองต่อคุณได้ด้วย”
- “ขอพูดให้ชัดเจน ฉันไม่ได้ต้องการให้คุณคิดว่าฉันไม่พอใจกับคุณภาพงานของคุณ ฉันอยากให้เรายังได้ทำงานร่วมกันต่อไป ฉันคิดว่าคุณทำงานได้ดีมากจริง ๆ เพียงแต่เรื่องตรงต่อเวลามันสำคัญสำหรับฉัน และฉันอยากให้คุณปรับปรุงตรงนี้ ถ้าคุณใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น ฉันก็ไม่มีข้อกังวลอะไรเพิ่มเติม”
- “ฉันไม่ได้อยากให้คุณเข้าใจผิดว่าฉันไม่เห็นคุณค่ากับเวลาที่คุณใช้เพื่อดูแลการเงินของเราให้อยู่ในสมดุลและ update อยู่เสมอ ฉันชื่นชมจริง ๆ และฉันก็รู้ว่าฉันเองคงทำได้ไม่ดีเท่าคุณ แต่ในขณะเดียวกัน ฉันมีความกังวลเกี่ยวกับความถี่ที่เราย้ายเงินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง”
5. สังเกตสัญญาณของปัญหา (Lean to Look)
“When people or groups leave dialogue, we often miss or misinterpret the early warning signs.”
เวลาคนหลุดออกจากบทสนทนา เรามักเห็น 2 แบบ
- Silence: เงียบหรือเปลี่ยนเรื่อง
- Verbal Violence: โต้แย้งหรือใช้อารมณ์
โดยให้สังเกตคำพูดและพฤติกรรม เช่น การถอนหายใจ การเปลี่ยนหัวข้อ หรือการโต้แย้ง เป็นต้น
เมื่อเห็นสัญญาณเหล่านี้ ให้หยุดพูดเรื่องเนื้อหา แล้วกลับมาสร้างความปลอดภัยก่อน
6. แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณและเขามีเป้าหมายร่วมกัน (Seek Mutual Purpose)
“When we find ourselves at odds, our automatic reaction is to either dig in, give in, or compromise.”
ใช้ 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ในการสร้างเป้าหมายร่วมกันเพื่อปรับให้บทสนทนากลับมา “safe” อีกครั้ง
- เห็นพ้องต้องกัน (Agree to Agree): ตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามหาเป้าหมายร่วมกัน ชี้ให้เห็นว่าเรามีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน (หยุดพูดเรื่องเนื้อหาแล้วโฟกัสที่เป้าหมาย) ยืนยันว่าเราต้องการหาเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย (แสดงเจตนาดีของเรา)
- ถามว่า “ทำไม” (Ask Why): ความปลอดภัยในบทสนทนาเกิดจากการที่ทั้งคู่มีเป้าหมายร่วมกัน แต่ก่อนจะหาเป้าหมายร่วมได้ เราต้องเข้าใจเป้าหมายของอีกฝ่ายด้วย โดยถามคำถามง่าย ๆ ว่า “ทำไม?”
- หา “ทางเลือกที่รวมกันได้” (Find the ‘And’): เมื่อเราเข้าใจเป้าหมายของอีกฝ่ายและแชร์เป้าหมายของตัวเอง เราอาจพบว่าจริง ๆ แล้วเรามีเป้าหมายที่เหมือนกันตั้งแต่แรก ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่ ลองหาวิธีที่รวมทั้งสองเป้าหมาย เข้าไว้ด้วยกัน หากยังไม่ชัดเจนลองมองหาวิธีที่สอดคล้องกับเป้าหมายในระดับที่สูงขึ้น หรือ มองในระยะยาว
7. เข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย (Explore Others’ Paths)
“Others have important meaning to contribute, and we aren’t hearing it.”
การฟังด้วยความตั้งใจเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขาพูด แต่คือการที่เขาเห็นว่าคุณตั้งใจฟังเขาอยู่หรือเปล่า
เราสามารถใช้ technique AMPP ในการตั้งใจฟัง (active listening) ได้
- Ask: ถามเพื่อให้เขาแชร์ความคิด
- Mirror: สะท้อนสิ่งที่สังเกตเห็น
- Paraphrase: สรุปสิ่งที่เขาพูด
- Prime: เสนอแนวคิดหากเขายังไม่เปิดใจ
อย่าลืม:
- มองหาความจริงในสิ่งที่เขาพูด
- อย่าใช้การฟังเพื่อตอบโต้ แต่ใช้เพื่อเข้าใจ
ในกรณีที่คนอื่นเข้ามาคุยกับเรา แทนที่เราจะทำตามสัญชาตญาณด้วยการโต้เถียงกลับ หรือค้นหาว่าใครถูก-ผิดตั้งแต่ต้น ให้หยุดฟังแล้วตอบด้วยหลัก “ABC”
เห็นด้วยเมื่อเห็นด้วย (Agree When You Agree)
ในการโต้แย้งส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากความไม่เห็นด้วยในข้อเท็จจริงหรือเรื่องราวเพียง 5-10% เท่านั้น แม้การแก้ต่างเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ควรเริ่มจากตรงนั้น ให้เริ่มจากจุดที่เห็นพ้องต้องกันก่อน
ถ้าเห็นด้วยกับสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ให้บอกไปตรง ๆ และข้ามไปเรื่องต่อไป อย่าเปลี่ยนจุดที่ตกลงกันได้แล้วให้กลายเป็นข้อโต้แย้ง
เพิ่มเติมเมื่ออีกฝ่ายพูดไม่ครบ (Build When Others Leave Out Key Pieces)
เหตุผลที่หลายคนมักเปลี่ยนจุดที่เห็นด้วยให้กลายเป็นข้อถกเถียง คือการพยายามหาจุดที่อีกฝ่ายพูดผิดและยกขึ้นมาโต้เถียง แม้จะเป็นความต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจถูกทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลให้การสนทนาที่ควรจะดี กลายเป็นการโต้เถียงอย่างดุเดือด วิธีที่ดีกว่าคือมองหาจุดที่เห็นพ้อง และเสริมในสิ่งที่อีกฝ่ายอาจยังพูดไม่ครบ เช่น แทนที่จะพูดว่า “ผิดแล้ว คุณลืมพูดถึง…” ลองพูดว่า “ถูกต้องเลย และอีกอย่างที่ฉันสังเกตเห็นคือ…”
เปรียบเทียบเมื่อมุมมองต่างกัน (Compare When You Differ)
ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย อย่าเริ่มด้วยการบอกว่าพวกเขา “ผิด” เพราะอาจยังไม่รู้ความจริงทั้งหมด จนกว่าจะได้ฟังทั้งสองมุมมอง ให้เริ่มด้วยการแสดงออกว่ามีมุมมองต่างกันอย่างสุภาพ และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น
- “ฉันมองเรื่องนี้ต่างออกไปนะ ขออธิบายมุมของฉันได้ไหม?”
- “ฉันเข้าประเด็นนี้จากมุมมองที่ต่างออกไป”
- “ประสบการณ์ของฉันไม่เหมือนของคุณ ขอแชร์มุมของฉันได้ไหม?”
8. เปลี่ยนการสนทนาให้เป็นการกระทำ (Move to Action)
“A conversation that ends with agreement is good. A conversation that ends with action is better.”
บทสนทนาที่ดีควรจบลงด้วย แผนปฏิบัติที่ชัดเจน ถามตัวเองว่า:
- “เราได้เรียนรู้อะไรจากการสนทนานี้?”
- “เราควรทำอะไรต่อจากนี้?”
การวางแผนเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการติดตามเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ตกลงไว้จะเกิดขึ้นจริง