ก้าวแรกสู่สังเวียน GitHub Copilot
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีโอกาสได้ไปเข้ากิจกรรมของบริษัทเกี่ยวกับ GitHub Copilot ซึ่งก็มีการทดลองใช้งานและแบ่งปัน tips เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการใช้งานจริง ก็เลยใช้บทความนี้ในการจดบันทึกไว้ว่ามีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง
GitHub Copilot คืออะไร
GitHub Copilot คือผู้ช่วยเราเขียน code พัฒนาโดย Microsoft และ OpenAI โดยเบื้องหลังจะใช้ machine learning ในการ generate code ตาม context ของงานที่เรากำลังทำอยู่ เปรียบเสมือน StackOverflow ที่ปรับ context เข้ากับเราแล้ว นักพัฒนาอย่างเรา ๆ ก็แค่ติดตั้ง Copilot บน IDE และเชื่อม license เข้ากับ GitHub account ของเรา จากนั้นเขียน prompt ที่เป็นลักษณะของ comment, function, variable name, test description ลงไปใน code สิ่งที่ได้คือ code snippet ที่ถูก generate ออกมา
GitHub Copilot: Your friendly neighborhood AI pair programmer!
โดยความที่ Copilot ทำการ train data เบื้องต้นจาก GitHub public repositories ทั้งหมดแล้ว ทำให้ code ที่ออกมานั้นมีความแม่นยำ สามารถ compile ได้ในระดับที่ดี (แต่ก็มีบางกรณีที่ compile ไม่ได้บ้าง) แล้วใช้งานได้กับทุก codebase ไม่ใช่แค่ต้องเป็น code ที่จะถูก host ใน GitHub อย่างเดียว
นอกจากนั้นแล้วในอนาคตอันใกล้ก็จะมี Copilot X ที่เป็น chat feature ช่วยหา error หรือช่วยส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ code และยังมี Copilot แบบ command-line ที่ช่วย generate Shell commands อีกด้วยนะ น่าสนใจมาก!
ความสามารถของ Copilot
- สามารถ generate code ที่ถูกต้องได้ถึงแม้ว่า code ปัจจุบันจะมี bug!
- สามารถอธิบาย code ส่วนที่เรา highlight ไว้ได้ เช่น dependencies ใน
package.json
เหมาะสำหรับเป็นตัวช่วยในการเรียนภาษาหรือ dependencies ใหม่ ๆ
- สามารถ generate พวก non-programming language ได้ เช่น API documentation, YAML, emoji, markdown เป็นต้น
- สามารถ generate test suite จาก code snippet ที่เราเลือกไว้ได้ (chat)
- สามารถ generate test data ที่สมจริงในระดับนึงได้
- สามารถแก้ไข compile error, syntax error ได้ (chat)
สิ่งที่ Copilot ไม่สามารถทำได้หรือยังทำได้ไม่ดี
- Copilot เหมาะสำหรับส่วนงานที่ทำซ้ำ ๆ ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน ถ้าอยากให้ผลลัพธ์ออกมาแม่นยำ context ตรง เราอาจจะต้องออกแรงเขียนเองไปก่อน
- Copilot chat feature มีแค่ใน VSCode แต่ไม่มีใน IDEA?
- Copilot ไม่สามารถทำ import-export function หรือ class ได้
ปิดท้ายด้วยข้อควรระวังในการใช้งาน
- อย่าเสียเวลาในการปรับ prompt หรือ suggestion จาก Copilot มากจนเกินไป ถ้ามันไม่ดีก็ลงมือเขียนเองซะ
- ระวังการ generate code หลายบรรทัดมากจนเกินไปเพราะเราต้อง review นานขึ้่น
- อย่าเชื่อใจ Copilot มากจนเกินไปเพราะ code ที่ออกมาก็ยังมีโอกาสที่จะมี bug อยู่
- มองว่า Copilot suggestion เป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง อย่าปิดกั้นตนเองกับทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจจะยังมี
- หากนำไปใช้ในงานจริงในบริษัทควรปรึกษาทีมกฎหมายหรือ security เกี่ยวกับ data privacy เพราะ code ของเราอาจจะถูก 3rd party (GitHub แล้วแน่ ๆ ละหนึ่ง) นำไปใช้ในทางอื่น ๆ
โดยรวมแล้ว GitHub Copilot เป็นเครื่องมือที่ช่วยทุ่นแรงเราในการ coding เหมาะสำหรับส่วนงานที่ทำซ้ำ ๆ ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน ยิ่งถ้า code ที่มีอยู่แล้วดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าผลลัพธ์ตรงกันข้าม ก็อย่าได้เสียเวลาจมไปกับการปรับแก้ prompt ครับ ลงมือเขียนเองกันไปเลย