แนวคิดและแนวปฏิบัติในการให้ feedback กับเพื่อนร่วมงาน
เมื่อวันก่อนมีโอกาสได้อ่านบทความ Never struggle to give feedback again (even to your manager) แล้วพบว่ามันมีสิ่งที่น่าสนใจตรงที่ว่า
ทำไมตอนเราให้ feedback กับเพื่อนร่วมงาน มันไม่ง่ายเหมือนตอนให้ feedback กับเพื่อนสนิทเลย
ซึ่งพอเราคิดต่อก็พบว่ามันมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง เช่น ตำแหน่งหน้าที่ หรือผลลบที่อาจจะตามมาทำให้ทำงานต่อไปด้วยกันไม่ราบรื่น เป็นต้น ซึ่งมันก็จริง
แต่ถ้าคิดในทางกลับกัน “แล้วทำไมตอนเราให้ feedback กับเพื่อนสนิท ดันไม่กลัวว่าจะคบกันต่อไปไม่ได้” งั้นแสดงว่าปัจจัยที่แท้จริงคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” ซะมากกว่า ซึ่งบทความที่ว่านี้เขาก็ share แนวคิดและแนวปฏิบัติในการให้ feedback กับเพื่อนร่วมงานโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเรื่องแย่ ๆ ตามมา
0. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
เวลาเราเจอเพื่อนร่วมงานใหม่ แทนที่จะเริ่มจาก feedback ตึง ๆ ก็ให้เริ่มจากคุยกันสบาย ๆ รู้จักกันและกันเหมือนกับตอนที่เราเริ่มคบเพื่อนสนิทคนนั้นเลย โดยการสนทนาให้เราแสดงให้เขาเห็นว่า เรามีแนวคิดที่อยากจะพัฒนาตนเองและคนอื่น เพื่อที่เวลาเราให้ feedback เขาจะมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราจะบอกหลังจากนี้เป็นความปรารถนาดีนะ
1. ตระหนักถึงเจตนาของเรา
ข้อแรกคือให้เริ่มต้นจากการสร้าง awareness กับตนเองก่อนว่าในอุดมคติแล้ว
- จุดประสงค์ที่เราให้ feedback คือต้องการช่วยให้คน ๆ นั้นเติบโตและพัฒนา
- รูปแบของการสนทนาที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการช่วยกันแก้ปัญหาตาม feedback
แต่ในชีวิตจริงบางครั้งเราอาจจะต้องการทำให้ตัวเองรู้สึกดีได้ปลดปล่อยด้วย แนะนำให้ไประบายกับคนอื่น ๆ หรือในบางครั้งถ้าปัญหามันรุนแรงและเจาะจงไปที่อุปนิสัยของคน ๆ นั้น เราก็ไม่สามารถช่วยเขาแก้ได้
แต่ประเด็นของการตระหนักรู้คือจะช่วยให้เรามีทางเลือกในการลดอารมณ์ร่วมของเราและเน้นให้เราใช้เหตุและผลในการให้ feedback มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2. ขออนุญาตคน ๆ นั้น
ต่อมาคือขอให้ feedback กับคน ๆ นั้นเพื่อ check อารมณ์ของเขาว่าพร้อมรับ feedback ไหม เพราะว่า ณ ขณะนั้นไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะรับ feedback เสมอไป และตอนที่พูดขอก็ให้ระบุชัด ๆ ไปเลยว่าจะให้ feedback เกี่ยวกับอะไร ผลที่เกิดคือการสนทนาจะราบรื่นมากขึ้น และอย่าพูดตรงจนดูหยาบคายจนเกินไปจนคน ๆ นั้นปรับอารมณ์เป็นปิดกั้น feedback หรือตั้งรับรอแรงกระแทกไปเลย
3. Show ว่าเรา care
จากข้อ 0 ให้เราย้ำอีกทีว่าเรา care ทำให้เขาเปิดใจรับฟังเรามากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าเราอยู่ข้างเขา ไม่ใช่ตรงข้ามกัน
4. อธิบายว่าเราสังเกตเห็นอะไร ผลที่เกิดกับตัวเราและคนอื่นคืออะไร
เอาให้เจาะจงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ชัดเจนและให้เขาเห็นถึงความสำคัญ และระวังคำพูดอย่ากำกวมจนคนตีความว่าเขากำลังถูกด่าอยู่หรือไม่ชัดเจนว่าเขาทำอะไรผิด
5. ให้ข้อเสนอแนะ จากนั้นถามความเห็นว่าเขาเห็นด้วยไหม คิดเหมือนกันไหม
แนะนำให้ใช้คำพูดประมาณว่า “One idea could be…” เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ในการปรับปรุงตาม feedback ก็เป็นได้ และเป็นการทำให้เขาไม่รู้สึกว่ากำลังโดนด่าหรือสอนอยู่แล้วต้องผงกหัวทำตามที่เราเสนออย่างเดียว
6. ตกลงทางออกร่วมกัน
เพื่อ check ให้แน่ใจว่าทั้งเราและเขาเห็นภาพตรงกันว่าจะปรับให้มันดีขึ้นจาก feedback ได้อย่างไร
สรุป
หากเราย้อนกลับไปที่คำถามว่า
ทำไมตอนเราให้ feedback กับเพื่อนร่วมงาน มันไม่ง่ายเหมือนตอนให้ feedback กับเพื่อนสนิทเลย
คำตอบก็คือ “เพราะว่าเรายังไม่ได้แสดงให้เพื่อนร่วมงานเห็นว่าเรา care เขามากพอ” เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่รู้ว่าเราให้ feedback เพราะเรา care โอกาสที่คน ๆ นั้นจะคิดบวกกับเราย่อมสูงเสมอ