อาทิตย์นี้ได้มีโอกาสเข้า session เกี่ยวกับ Non-violent communication ในบริษัท เป็นหัวข้อที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้นอกจากในงานแล้ว นำไปใช้ในชีวิตจริงก็ได้เหมือนกัน จึงเอามาสรุปไว้สักหน่อย

NVC Tree of Life https://github.com/cognitivetech/Marshall-Rosenberg-NVC/blob/master/NVC-Basics_BayNVC.md

Observing ≠ Intepreting

ก่อนที่เราจะสื่อสารอะไรออกไปให้กับใครสักคน เราควรสังเกต (observe) สถานการณ์ตามระดับความสนิทสนมและสถานการณ์ตามความเป็นจริง เช่น แฟนเราทักว่า “ช่วงนี้กลับบ้านดึกนะ” มันก็อาจจะตีความ (interpreting) ได้ว่า “เป็นห่วงนะ” หรือ “แอบไปเที่ยวไหนมา” ซึ่งมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลยก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถเริ่มสังเกตได้เลยก็คือ “เรากลับบ้านดึกจริงๆ หรือเปล่า” แทนที่จะเป็น “ไม่ไว้ใจเราหรอ”

Feeling ≠ Thinking

ถ้ามีคนถามเราว่า “เรารู้สึกอย่างไร” บางทีเราอาจจะตอบว่า “เหนื่อย” “เศร้า” “happy” เป็นต้น แต่บางครั้งเราอาจจะตอบว่า “รู้สึกแบบมีหลายอย่างต้องทำ” “รู้สึกอยากออกไปเดินเล่นข้างนอก” ซึ่งมันอาจจะเป็นแค่สิ่งที่เราคิดไปเอง (think) ไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึก (feel) จริงๆ ดังนั้นมันจะเป็นประโยชน์มากถ้าเราสามารถสื่อสารชัดเจนว่าเรารู้สึกอย่างไร ทำให้คนรับสารมีโอกาสเข้าใจตรงกันกับเรามากกว่า

Need ≠ How

ถ้ามีคนถามเราว่า “เราต้องการอะไร” บางทีเราอาจจะตอบว่า “ต้องการพัก” “ต้องการความจริงใจ” แต่บางครั้งเราอาจจะตอบว่า “ต้องการออกไปเดินเล่นสูดอากาศ” “ต้องการใครสักคนที่เข้าใจเรา” ซึ่งอย่างหลังมันเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า “ทำยังไง (how) ถึงจะสนองความต้องการ (need) อะไรบางอย่าง” มากกว่า อีกอย่างนึงคือ how มันแปลความหมายเป็น need ได้หลายๆ แบบ แต่ need อย่างเดียวมีได้ตั้งหลาย how ดังนั้นการทำความเข้าใจด้วย need จะตรงประเด็นมากกว่า how นั่นเอง

Individual should be responsible for their own needs

Request ≠ Command

การที่เราจะขอ (request) สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการบอกไปตรงๆ ซึ่งมันจะต่างจากการไปสั่ง (command, demand) เช่น “หยุดซนได้ไหม” “ต้องให้เอาข้าวไปป้อนให้ถึงเตียงเลยไหม” ซึ่งจะลดโอกาสการเกิดบรรยากาศที่ไม่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น request ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ในที่สิ่งที่ต้องการเสมอไป

การทำ non-violent communication มี 4 ขั้นตอน

  1. สังเกตสถานการณ์จากระดับความสนิทสนมและความเป็นจริง โดยไม่มีความตีความหรือคิดไปเอง
  2. ระบุความรู้สึกจริงๆ ของเรา ไม่ใช่คิดไปเอง
  3. คิดให้แน่ชัดว่าเราต้องการอะไรจริงๆ หรืออะไรที่มันยังไม่ตรงความต้องการของเรา
  4. ขอให้ทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา

NVC 4 steps https://restorativejusticecenter.org/the-basics-of-nvc/

ซึ่ง 4 ข้อที่ว่ามานี้ทำให้เกิดความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยที่ยังยึดติดอยู่กับความเป็นจริง ทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจากการสื่อสารได้นั่นเอง แต่ก็ต้องระวังว่าอย่าไปคิดเรื่องคนอื่นมากจนเกินไปจนเป็นผลเสียกับตัวเองด้วยครับ

Further readings