ผ่านมาแล้ว 3 เดือนหลังจากการพูด public conference ครั้งแรกในงาน XConf Thailand 2023 เป็นหนึ่งในเป้าหมายเล็ก ๆ ในปีนี้ที่ทำได้สำเร็จแล้วผลตอบรับได้ดีเกินคาด สำหรับใครที่ยังไม่รู้หรือยังไม่ได้ฟัง talk ของผมกับเพื่อน Michael ในหัวข้อ Our adventure in building an internal developer platform ก็ไปเสพกันใน Youtube ได้ครับ (สารภาพว่าหลังจาก talk ก็ไม่เคยกลับไปฟังตัวเองอีกเลย ฟังตัวเองพูดแล้วมันแปลก ๆ ฮ่า ๆๆ)

ในบทความนี้ไม่ได้แค่จะมาอวด talk เท่านั้นเพราะสิ่งที่ประทับใจที่สุดใน talk ไม่ใช่ 40+ นาทีของตัว talk เอง แต่เป็นการเตรียมตัว เนื้อหา ความรู้ประสบการณ์ในการเตรียม talk เป็นร้อย ๆ ชั่วโมงต่างหาก ก็เลยขอบันทึกไว้เพื่อนำ technique และประสบการณ์ไปใช้กับ talk ถัด ๆ ไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ช่วงส่งหัวข้อ

จุดเริ่มต้นคือมาจากการได้เข้าไปทำ project ที่เกี่ยวกับ internal developer platform ให้กับลูกค้าเจ้านึงซึ่งเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่สุดในอาชีพเลย บวกกับว่ามันเป็นศาสตร์ที่เราชอบด้วยก็เลยลงแรงแบบจัดหนักกับ project นี้เพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวกับประสบการณ์ พอทำไป 3 เดือนแล้วพบว่ามันมีความรู้และประสบการณ์ที่น่าจะไป share นะ ก็เลยวางแผนว่างั้นเดี๋ยวไป share ใน talk ของบริษัทที่จัดทุกเดือนเอาละกัน แต่ก็ต้องล้มแผนเพราะบริษัทกำลังหา speaker ไปพูดในงานใหญ่ประจำปีและพี่ในทีมก็ช่วยกล่อมให้ออกจาก comfort zone ก็เลยตัดสินใจส่งหัวข้อไป

ทีนี้จุดที่ยากที่สุดคือเราต้องเตรียม abstract เนี่ยแหละ ก็ไม่แน่ใจว่าจะพูดอะไรดี เนื้อหามันควรจะเป็นยังไง ความตื้น-ลึกของ technical เป็นยังไง จะใช้เวลาพูดเท่าไร ซึ่งคำตอบของคำถามพวกนี้คือ “ไม่รู้” ผลคือก็ส่งหัวข้อและเนื้อหาใน generate ผ่าน ChatGPT แบบกลวง ๆ ไป ส่วนเวลาก็ลอกคนอื่นเอา ฮ่า ๆๆ

ขณะที่ส่งหัวข้อ เราไม่จำเป็นต้องเก่งหรือเซียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูด เราไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาทุกอย่างใน talk แล้ว เดี๋ยวรายละเอียด ประสบการณ์มันจะตามมาจากการเตรียมเนื้อหานั่นเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัว ส่ง ๆ ไปก่อน ผ่านก็ดี ไม่ผ่านก็ไปพูดงานอื่น เราไม่ได้เสียอะไรเลย

สรุปแล้วผลก็คือ “ผ่าน” ส่วนนึงคงเป็นเพราะว่าพี่ในทีมคือคนที่คัดเลือก talk นั่นแหละ ฮ่า ๆๆ

ช่วงเตรียมเนื้อหา

อย่างที่กล่าวไปในช่วงก่อนหน้า การเตรียมเนื้อหาเป็นเรื่องยากเพราะ talk มันคือเรื่องของประสบการณ์ ปัญหาคือเราไม่สามารถพูดทุกประสบการณ์ที่เราเจอได้ แต่ถ้าเราจำประสบการณ์ที่สำคัญไม่ได้ก็งานเข้าเหมือนกัน และการที่บริษัทให้เวลาเตรียมตัว 5-6 เดือน ก็เป็นดาบสองคม เพราะถึงแม้จะมีเวลาเตรียมตัวเยอะขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่เนื้อหาของเราจะถูก disrupt ด้วย technology ใหม่ ๆ ในระหว่างนั้นด้วย ดังนั้นส่วนมากแล้ววิธีที่เราใช้คือ

  • เขียน blog เพื่อบันทึกประสบการณ์
  • ทำ knowledge sharing ในทีมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ (แปลว่ามีการเตรียมเนื้อหาทีเดียว อาจจะได้ใช้ใน talk ด้วย)
  • ทำ project ที่คล้าย ๆ กับงานจริงเพื่อสรุปความเข้าใจ (เอาไว้ใน GitHub เป็น portfolio ไปในตัว)
  • ฟัง talk เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะพูด โดยส่วนใหญ่เราจะฟังของ Thoughtworks และ PlatformCon 2023

ขณะที่เตรียมเนื้อหาต้องยอมรับว่ามันจะต้องใช้เวลานาน หลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้มารบกวนงานจริง ในขณะเดียวกันเราอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปันเวลานอกงานมาเตรียม แปลว่าเราต้องตัดสิ่งที่ทำบางอย่างที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นออกไป (cut the bullshit)

ช่วงเตรียม presentation

เมื่อได้เนื้อหาและประสบการณ์แล้วก็กลับมารวมกัน ก็จะมี discussion ที่เห็นด้วยและเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ขอให้เราอดทนให้เพียงพอในการทำเข้าใจและรับฟังคู่ของเราอย่างแท้จริง แน่นอนว่าเนื้อหาบางอย่างของเราอาจจะมีผิด-ถูก บางอันก็ตื้นเกินไปราวกับดูถูกสติปัญญาคนฟัง บางอันก็ลึกเกินไปคนฟังก็งง เป็นเรื่องปกติที่จะต้องตัดทิ้งหรือเพิ่มเติมแก้ไขครับ

ในส่วนของ presentation แนะนำว่าอย่าเริ่มด้วยการทำเองทั้งหมดตั้งแต่ศูนย์ เราควรจะหา slide หรือ graphic ที่คนอื่นเคยทำไว้แล้วมาประยุกต์เข้ากับ talk ของเรา จะช่วยทุ่นแรงของเราได้พอสมควรเลย

ในส่วนของ talk เราได้เรียนรู้ว่ามันมีคู่มือในการเตรียม talk หลากหลายรูปแบบ โดยเราใช้ Pip Decks เป็นเครื่องมือในการช่วย โดย Pip Decks มันก็เป็นแค่ card ที่แนะนำ Storyteller Tactics รูปแบบต่าง ๆ โดยเราจะต้องตอบคำถามเหล่านี้เพื่อ build talk ของเราขึ้นมา

Storyteller Tactics

ผลลัพธ์ของการตอบคำถามคือเราจะได้ guideline ของ talk เราขึ้นมาราวกับเป็นการเล่าเรื่อง (storytelling) ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น

  • Concept: มี theme เหมือนกับการผจญภัย
  • Explore: มีรูปแบบการเล่าเรื่องที่งงหรือซับซ้อนให้คนฟังเดินตามได้ง่าย
  • Character: มีคนพูดเป็นตัวละครให้คนฟังสนใจ
  • Function: มีจุดที่คนฟังสามารถนำเรื่องราวของเราไปใช้ เช่น ใช้ขายของ
  • Structure: มีรูปแบบชัดเจนเหมือนการเล่านิทาน
  • Style: มีสิ่งที่ทำให้คนจดจำ
  • Organise: มีการจัดเรียงลำดับเนื้อหาให้จำได้ง่าย

ช่วงซ้อม talk

ช่วงนี้ก็จะเป็นอีกช่วงที่จะต้องมีการปรับแก้เนื้อหาเหมือนกัน เพราะเวลาเราพูดไปมันจะเริ่มจะติด ๆ ขัด ๆ เพราะในหัวเราก็จะคิดไปด้วยว่า “คนฟังจะเข้าใจไหม” “มันลึกเกินไปไหม” “มันยืดยาวเกินไปไหม” ซึ่งเราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการซ้อมครับ โดยเราได้ใช้ technique เข้ามาเสริมให้การซ้อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • มีการจับเวลาเพื่อฝึกให้ talk ไม่เกินที่กำหนด นอกจากฝึกน้ำเสียงและจำลำดับเนื้อหาแล้ว ยังเป็นการตัดเนื้อหาที่เวิ่นเว้อออกไปด้วย
  • แต่ละ slide ให้ระบุจุดประสงค์ที่ต้องการจะสื่อ และระยะเวลาที่คิดว่าจะใช้ใน slide นั้น ๆ เพื่อให้เราไม่ต้องจำทุกอย่างใน slide แต่เน้นพูดจากความเข้าใจของเราแทนจะได้เป็นธรรมชาติ
  • ให้ feedback กันและกันหลังจบการซ้อม
  • มีการให้คนนอกหรือคนที่เคยพูดเรื่องคล้าย ๆ เรามาสังเกตการซ้อมพร้อมกับขอ feedback เพื่อปรับปรุง
  • มีการวางแผนในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ตัดบางส่วนออกเพื่อให้จบ talk ทันเวลา
  • อัดการซ้อมแล้วกลับไปฟังดูเพื่อหาจุดปรับปรุงในครั้งถัด ๆ ไป

ช่วงก่อน-หลัง talk ในวันนั้น

ก่อนพูดสักชั่วโมงนึงก็ไปดูสถานที่ จุดยืน ไฟ นาฬิกาจับเวลา clicker ก่อนเพื่อกันตกใจ ละก็ซ้อมอีกรอบนึงเพื่อความมั่นใจ (ส่วนตัวเรามั่นใจมาก ๆ ตั้งแต่ซ้อมแล้ว) พอไปงานจริงก็ประหลาดใจตัวเองว่าอาการตื่นตระหนก มือสั่นที่แต่ก่อนจะเกิดขึ้นทุกครั้งมันไม่เกิดในครั้งนี้ ทำให้เราสามารถพูดได้ไหลลื่นเหมือนกับที่ซ้อมเอาไว้เลย สุดท้ายก็จบในเวลาและผลตอบรับก็ดีเกินคาด

และแน่นอนว่าหลัง talk เราก็ share ลง social media อย่าง LinkedIn เพื่อเก็บเป็น portfolio ของเราและเป็นการขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมใน talk ครั้งนี้ด้วย ไม่ใช่แค่คู่ซ้อมและคนสังเกต แต่รวมถึงเพื่อนร่วมทีมเก่าและลูกค้าที่เคยร่วมงานกัน ณ ตอนอยู่ project นั้น

สิ่งอื่น ๆ ที่ได้จากการ talk

  • บริษัทได้ชื่อเสียงว่ามีประสบการณ์ในการสร้าง internal developer platform
  • สร้าง branding ของเราว่าเป็นคนมีประสบการณ์ด้าน internal developer platform
  • ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้ง hard skill และ soft skill ระหว่างการเตรียมเนื้อหา

XConf talk

ก็เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายเล็ก ๆ ในปีนี้ที่ทำได้สำเร็จ คำถามถัดมาคือ “พอถึงเป้าหมายแล้วยังไงต่อ” คำตอบง่าย ๆ สำหรับเราตอนนี้คือ “เราก็สร้างเป้าหมายใหม่สิ”