สิ่งที่ชอบ + สิ่งที่เกิด impact = 🔥🔥🔥

Quattro Pizza

โดยปกติแล้วก่อนที่เราจะตั้งเป้าหมายของปีนั้น ๆ อย่าง New Year Resolution อะไรอย่างงี้เราจะดูก่อนว่าในปีนั้น ๆ โอกาสที่เข้ามามันมีหน้าตายังไง ถ้าไม่มีแบบชัดเจนเราจะต้องเป็นคนสร้างเอง แต่ถ้ามีเราต้องคว้าโอกาสนั้นแล้วเราต้องทำให้ดีที่สุดโดยใช้กำลังความสามารถของเราทั้งหมดโดยเมื่อเราหันหลังกลับมาทบทวนแล้วถามตัวเองว่า “นี่เราทำเพียงพอแล้วหรือยัง” เราต้องตอบว่า “ใช่” โดยไม่มีความเคลือบแคลงในใจเลย

แล้วนั่นคือสิ่งที่เราทำในปีนี้ได้ใน software development ด้วยโอกาสที่เข้ามามันคือ project ที่เกี่ยวกับ Internal Developer Platform เป็นศาสตร์ที่เราสนใจอยากจะทำและเรียนรู้ตั้งแต่อยู่บริษัทก่อนหน้านี้แล้ว พอได้ลงมือทำจริงสิ่งที่ได้ทำคือ

  • เปิดใจลงมือทำในกับสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
  • ได้ใช้แนวทางการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เข้ากับ style ตัวเองอย่างเต็มที่
  • ขุดประสบการณ์เดิมที่เคยทำในงานเดิมส่วนนึงมาช่วยทีม
  • แบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กับทีมและหนึ่งในนั้นคือเพื่อนร่วมงานที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน
  • จดบันทึกทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้ได้มากที่สุดเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาระลึกชาติ

ผลคือเราช่วยลูกค้าได้เยอะมาก ๆ เพราะ platform โตขึ้นแบบก้าวกระโดด มีคนใช้งานเยอะขึ้นและไม่มีอะไร happy ไปกว่าได้ยินคำชมจากปากของ user ตรง ๆ นี่แหละคือสิ่งที่เราหามาตลอด

Our highest priority is to satisfy the customer through early and continuous delivery of valuable software.

8 ชั่วโมงในเวลางานไม่เพียงพอหรอกกับสิ่งที่ต้องลงแรงทำไปตามที่บอกไว้ข้างต้น เราต้องใช้เวลานอกงานเพื่อฝึก ฝึก ฝึกและเรียนรู้เพราะเรารู้ว่านี่คือสิ่งที่จะเราให้เรา “เติบโต” โดยที่ไม่ต้องสนใจเส้นชัยสุดท้ายว่า project นี้หรือหลังจากนี้มันจะช่วยเราได้จริงไหม และตรงจุดนี้แหละที่ทำให้เรา enjoy ไปการก้าวและเรียนรู้ไปไม่รู้จบ กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็เลยเส้นชัยมาไกลมากแล้ว เพราะเราได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการพูด public conference ครั้งแรก และทำ project เสริมกับทีม Backstage Boys and Girls

นอกจาก software development แล้วเราก็จัดชมรม Toastmasters ร่วมกับเพื่อนในที่ทำงานเป็นพื้นที่ให้คนฝึกการพูดในที่สาธารณะด้วย แม้ว่าตอนนี้เราจะยังต้องปรับการพูดแบบด้นสดอีกเยอะก็ได้แต่สู้ต่อไป

พอเรากลับมาเขียน blog นี้ก็ได้คิดว่าเรามาได้ไกลมากจากเด็กที่กลัวและเกลียดการพูดในที่สาธารณะ ปากสั่นมือสั่นเหงื่อแตกร้องไห้ กลัวพูดผิดและโดนเพื่อนล้อเลียน สู่การพูดเรื่องอาชีพการงานให้กับคนสายงานเดียวกันเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดโดยไม่ตะกุกตะกักเลย คงต้องขอบคุณตัวเองที่เลือกที่จะลงแรงกายแรงใจก้าวข้ามอุปสรรคนี้มาได้

ถึงเป้าหมายแล้วยังไงต่อ

Workshop Day

พอ conference จบทุกอย่างสวยงามราบรื่นก็คิดกับตัวเอง(และบอกคนอื่น)ว่า “ปีนี้จบละขอพักยาว ๆ ยันสิ้นปี” บวกกับช่วงนั้นไม่มี project ลงพอดีก็เลยปล่อยตัวชิวเลย แต่ก็ยังทำงานนะ (ซึ่งก้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ low-code platform และ CMS เพิ่ม) แค่ไม่ได้ลงแรงเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายเราก็พบความจริงอันโหดร้ายของโลกใบนี้ว่า

“Time doesn’t give a shit about a break, Christmas, or even birthday.”

เวลามันก็ยังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ นั่นหมายถึงเวลาของเราก็น้อยลงไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีใครหนีความตายไปได้ (ในปี 2023 นะ แต่อนาคตไม่รู้อาจจะหนีได้ก็ได้) พอเราคุยกับคนอื่นหรือไปเข้า conference เราก็พบว่าเรายังขาดทักษะอื่น ๆ และต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย (แต่อย่าได้เข้าใจผิดว่าเราเป็น imposter syndrome ที่เราไม่เก่งสักกะอย่าง) ทำให้เราฉุกคิดได้ว่าถ้าเราพักตอนนี้เราก็จะไม่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นที่ขาดหายไป เราไม่ได้ทำให้ตนเองเก่งได้เต็มกำลังความสามารถสูงสุด และคงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราจะจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่รู้ถึงศักยภาพสูงสุดที่ตนเองมีเลย

ในเมื่อเรารู้เราจะได้พักแน่นอนเมื่อถึงเวลานั้น เราจะต้องสู้ต่อในทุก ๆ วันนะ เราจะได้ไม่ต้องมาพยายามใช้ชีวิตทุก ๆ วันราวกับว่ามันเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเมื่อสายไปแล้ว

เกิดเป็นไฟในตัวลุกขึ้นมาหาอะไรลงมือทำอีกครั้ง ในที่สุดเราก็ขอเข้า project ไปช่วยหาลูกค้าเข้าบริษัทเกิดเป็นการเรียนรู้และได้ทักษะใหม่ ๆ และบังเอิญที่สุดคือการได้บรรลุเป้าหมายในหน้าที่การงานที่ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ทำ ณ ตอนนี้คือ “การ coaching เรื่อง Agile และ Lean principles” นั่นเอง

คงต้องขอบคุณตัวเองอีกครั้งที่ได้โกหกตัวเองว่าจะขอพักยาว ๆ และเลือกที่จะลงแรงกายแรงใจเพิ่มก้าวข้ามอุปสรรคนี้มาได้

เราได้เรียนรู้ว่าเราเป็นใครเมื่อพบเจอกับอุปสรรค

Mission Impossible Squad

ก่อนหน้า public conference ครั้งแรกของเรามีโอกาสได้ไปเข้า project อันนึงซึ่งมีความท้าทายมาก อาทิเช่น

  • ต้องทำงานร่วมกับ consultant หลากหลายเจ้า
  • Deadline สั้นมากเมื่อเทียบกับ scope ของงาน
  • ลูกค้าเวลาให้กับทีมไม่เกิน 30 นาทีต่อวัน
  • อำนาจต่อรองกับลูกค้าน้อย

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เป็นอุปสรรคที่หนักอยู่แล้ว แต่ตัวตอกฝาโลงที่แท้จริงคือ “ลูกค้าอยากได้ feature เพิ่มแต่ deadline เท่าเดิม” สิ่งที่ทีมเลือกที่จะทำ ณ ขณะนั้นคือ “ต้องทำ overtime” ตอนแรกก็ดูดีนะ แต่พอนาน ๆ ไปท่าเริ่มจะไม่ดีเมื่อเห็นเพื่อนร่วมทีมป่วย หรือแม้กระทั่งวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็ยังต้องมาทำงาน ส่งผลให้กำลังใจทีมตกฮวบ คุณภาพงานก็ออกมาไม่ดี มันเลยเส้นที่เราสามารถยอมรับได้แล้วเราเลยตัดสินใจไปคุยกับ leadership team โดยตั้งธงไว้แล้วว่าพวกเขาไม่ช่วย support ทีมเลย หลังจากการพูดคุย สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ

“ที่ทีมเลือกที่จะทำ overtime เป็นเพราะมันง่ายไง สิ่งที่ยากคือการเจรจากับลูกค้าว่าทำไมเราไม่สามารถ commit งานนี้ได้ หรือต้องตัด scope เดิมอันไหนออกก่อนได้บ้าง หรือเลื่อนไปทำใน phase ถัดไป พอมันยากเราก็เลือกทางที่มันง่าย ผลก็เป็นอย่างที่เห็น”

“ใคร ๆ ก็สามารถ consult ลูกค้าที่เค้าเห็นพ้องกับเรา ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถ consult ใน project ลักษณะนี้ได้”

หลังจากที่คุยแล้วสิ่งที่เราทำแล้วส่งผลให้ project จบได้ งานส่งครบตามตกลงกันไว้โดยคุณภาพที่ดีมีดังนี้

  • อธิบายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเพิ่ม feature โดยที่มี deadline เท่าเดิม
  • ขอ support จากลูกค้าเพิ่ม สิ่งที่ได้คือได้ developer และ subject domain expert จากฝั่งลูกค้ามาช่วย (ซึ่งมันจะเกิดอีกปัญหาต่อไปคือการเพิ่มคนไม่ได้หมายความว่างานเสร็จเร็ว ซึ่งไม่ขอลงลึกไปบทความนี้)
  • ทำ impact analysis กับ technical lead ของฝั่งลูกค้าเพื่อให้เขาเข้าใจผลกระทบและช่วยเจรจากับ business ของฝั่งลูกค้าอีกที
  • ขอ support จาก leadership team ในการทำงาน overtime หากมีความจำเป็นจริง ๆ เช่น production release นอกนั้นทีมห้ามทำ overtime
  • ทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าระบบงานทั้งหมดหน้าตาเป็นอย่างไรด้วย Service Blueprint

ก็ทำให้เรานึกย้อนไปถึงเวลาเราเจออุปสรรคเรารับมือกับมันยังไงตั้งแต่เด็กยันโต เราก็พบว่าเราผ่านอุปสรรคและความลำบากยากเข็นทั้งร่างกายและจิตใจมามากมาย แต่ในบางครั้งเราสามารถผ่านมาได้ด้วยตัวเองเพราะสภาพแวดล้อมมันเอื้อ ร่างกายและจิตใจเราสมบูรณ์ เป็นไปตามแผนทุกอย่าง แต่ในสภาพแวดล้อมกดดัน ร่างกายและจิตใจไม่สมบูรณ์ แผนทุกอย่างที่วางไว้พังหมด บ่อยครั้งที่เรายอมแพ้ล้มเลิก ต้องรอให้ “ใครสักคน” “โชคชะตา” หรือส่วนมาก “เวลา” มันมาช่วยพาเราให้ผ่านไปได้ และนั่นเองคือสิ่งที่เราผิดพลาดเพราะการที่เราเลือกทางที่เจ็บปวดน้อยลงเราไม่ได้เรียนรู้ เสียเวลาหายใจทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ได้รู้ถึงศักยภาพสูงสุดที่ตนเองมี และหมดโอกาสกุมบังเหียนชีวิตของตนเอง

อย่าได้เข้าใจผิดว่าเราจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างไปด้วยตนเองเท่านั้น หรือการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นคือเราแม่งกาก (ดูจากสิ่งที่เราทำข้างบนเราก็ขอ support จากคนอื่นเยอะแยะ) แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่คนอื่นจะมาจูงเราให้ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นไปตลอดทางได้ ในขณะเดียวกันอย่าได้เข้าใจผิดว่าเราต้องเลือกทางที่ “ยาก” เสมอไป (ไม่งั้นเราในฐานะนักพัฒนา software จะสนใจพวก productivity ไปทำไม) แต่จงเลือกทางที่เราได้ “เรียนรู้และเติบโต” ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเส้นทางเหล่านั้นมักจะเป็นเส้นทางที่ “ยาก” เสมอ

นอกจากนั้นคือไม่มีใครรู้ไปทั้งหมดว่าเราจะเจอกับอุปสรรคอะไรในอนาคต บาทีมันอาจจะมาโดยไม่ได้ทันตั้งตัวด้วยซ้ำ การที่เราผ่านเส้นทางที่ “ยาก” นั้นจะฝึกให้เรารับมือกับอุปสรรคให้เรา “ด้านชา” กับชีวิตเมื่อทุกอย่างไม่เป็นใจ จะเป็นเชื้อเพลิงให้เราสามารถผ่านอุปสรรคในอนาคตได้

Half-marathon

เราได้นำแนวคิดนี้ไปใช้กับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตนอกจากงานด้วย เช่น เรื่องสุขภาพ ปีนี้มีโอกาสได้วิ่งงาน half-marathon จบเป็นครั้งแรก ในช่วง 15 กิโลแรกทุกอย่างราบรื่นเป็นไปตามแผนการซ้อม พอเข้า 6 กิโลสุดท้ายปรากฎว่าเกิดอาการ “เจ็บฝ่าเท้า” ทุกก้าวที่ก้าวไป ต้นเหตุคือ รองเท้ามันใช้งานมาเกินอายุระยะของมัน พอเอามาวิ่งหนัก ๆ มันก็ไม่ support เท้าเราเหมือนเดิม แทนที่เราโทษว่า “เป็นเพราะรองเท้าเนี่ยแหละเลยได้เวลาห่วย” อย่างเดียวก็เสริมไปว่า “ครั้งหน้าเราต้อง track ระยะของรองเท้านะ จะได้รู้ว่าเราควรซื้อคู่ใหม่ตอนไหน”

กลับไปที่ ณ ตอนวิ่ง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ร่างกายและจิตใจไม่สมบูรณ์ แผนทุกอย่างที่วางไว้พังหมด เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก “วิ่ง” ต่อ แม้ว่าเวลาจะออกมาไม่ดีเท่า 15 กิโลแรก แต่เราได้เค้นศักยภาพสูงสุดที่เรามีและเรียนรู้ถึงจิตใจของตนเองมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เส้นชัย (เพราะเส้นชัยของชีวิตคือความตาย) แต่มันคือการที่เรารู้ว่าเราไปได้ไกลกว่าที่เราคิดมากแค่ไหนต่างหาก

“When the ending is unknown, and the distance is unknown, that’s when you find out who you really are” - David Goggins

ได้ทักษะใหม่ ๆ จากการลงมือทำ

จากเป้าหมายเมื่อปีที่แล้วคือ “ถ้าคิดอยากจะลงมือทำอะไรที่ไม่มีอะไรจะเสีย ศึกษาแปบเดียวแล้วลงมือทำเลย จะได้ไม่มาเสียดายทีหลัง” เราก็เลยได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เกิดเป็นทักษะใหม่ ๆ เช่น เที่ยวคนเดียวครั้งแรก ลงทุนนอกเหนือจากลดหย่อนภาษีครั้งแรก ทำอาหารกินเองทั้งอาทิตย์ครั้งแรก เป็นต้น

สถิติ

ปีที่ผ่านมาเขียนไป 63 blog โดยเรื่องที่เขียนเยอะที่สุดคือ

  • soft-skill (12)
  • platform (7)
  • azure (6)
  • tools (5)
  • practice (4)
  • conference (4)
  • agile (4)
  • azure-container-apps (4)

มี 4 blog ที่เอาไปแชร์กับพี่ ๆ ผ่าน Medium

เวลาที่ใช้ในการเขียน code

จากการใช้เครื่องมือ WakaTime เป็นตัวเก็บสถิติ ปีนี้เราทำงานลูกค้าบนเครื่องของตนเองดังนั้นตัวเลขเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะดูมากขึ้นเป็นพิเศษ

Code stats for 2023

Feedback

ระหว่างปีที่ผ่านมา มาดู feedback ที่เราได้รับกันหน่อย (ใครที่แวะมาอ่านขอบคุณสำหรับ feedback มาก ๆ นะครับ เราจะหยิบมันกลับมาดูแน่ ๆ)

  • เป็นคนที่พึ่งพาทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Azure DevOps ทักษะทางเทคนิคและความคิดริเริ่มของเขามี impact ที่ดีต่อการออกแบบ pipeline, การแสดงผลแบบ metrics, และ automation tools
  • เขามีประสิทธิภาพในการทำ documentation, facilitation, software design, และเปิดใจต่อทางเลือกอื่นจากคนอื่น ๆ
  • เป็นนักสื่อสารไอเดีย, ความเสี่ยง, dependencies ที่มีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอกทีม, สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าของทีม Platform เขาฟังลูกค้า (พร้อม ๆ กับการจดบันทึกมากมาย) และกลับมาด้วยกราฟชาร์ตที่เข้าใจง่ายเพื่อช่วยทีมและลูกค้าให้เข้าใจกันได้
  • แบ่งปันความรู้กับผู้อื่นในทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วย check ว่าคนใน timezone อิื่นได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของงานครบถ้วน
  • เขาพูดถึงการเข้าร่วมประชุม, การฝึกอบรม, หรือวิดีโอที่เขาดูอยู่เสมอ
  • คุณใจเย็นและสุขุมอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ทีมเผชิญกับความยากลำบากหรืออุปสรรค เป็นที่น่าพอใจสำหรับทีมเรา สร้างบรรยากาศที่เชื่อมั่นและเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังใจให้ทีม
  • ฉันประทับใจกับการที่คุณระบุ edge case ที่ไม่ธรรมดาที่อาจเกิดขึ้น
  • เมื่อเราทำงานร่วมกัน คุณมีไอเดียที่ดีมากเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงโค้ดโดยให้มั่นใจว่ามันสามารถขยายหรือพัฒนาต่อได้ง่ายต่อไป ซึ่งเข้าเนื้อแน่นกับหลักการ SOLID นี่แสดงให้ฉันเห็นว่าคุณเข้าใจโค้ดและ project ได้อย่างรวดเร็ว
  • คุณใช้เวลาหลังการทำงานเพื่อพัฒนา repository ตัวอย่างเพื่อให้ฉันมีความเข้าใจและความเข้าใจเพียงพอเพื่อทำงานได้ต่อ
  • แบ่งประสบการณ์ที่ QA community ของบริษัท
  • เขาเป็นผู้นำในการแนะนำทีมในกระบวนการตอบสนองต่อเหตุการณ์เมื่อมีปัญหาด้าน security เกิดขึ้น
  • Earth ตัดสินใจรับบทบาท QA สำหรับงานพัฒนาที่ส่งมอบโดยสมาชิกทีมคนอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลน QA ภายในทีมเพื่อรักษาแผนการส่งมอบตามที่ได้ระบุในสัญญาให้เป็นไปตามความเป็นจริง
  • ฉันรู้ว่าคุณใช้ความพยายามเยอะมากในการสร้าง survey และทำความเข้าใจกับผลลัพธ์ และทำงานหนักเพื่อนำเสนอในรูปของ slide ขอบคุณนะ!
  • คุณแม้แต่ให้เวลาดึกดื่นของคุณเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ workshop ซึ่งเกินความคาดหมาย
  • ปกติบางครั้งนักพัฒนาบางคนอาจให้คำตอบ 50-50 (เช่น ขึ้นอยู่กับ…) ซึ่งยากที่จะเข้าใจ, แต่ Earth สามารถให้คำตอบได้เป็น “ใช่” หรือ “ไม่” และช่วยให้ลูกค้ามีความชัดเจนมากขึ้นว่าเราจะช่วยเขาได้ไหมและจะช่วยเขาอย่างไร
  • ในการพูดคุยกับทีมของเราและลูกค้า, Earth มีความสามารถที่ดีในการอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนด้านเทคโนโลยีในภาษาที่เข้าใจง่ายโดยใช้การเปรียบเทียบสำหรับลูกค้าที่ไม่รู้ technical ซึ่งจริง ๆ มีประโยชน์ต่อทุกคนเพราะลูกค้าได้ความรู้ติดตัวไว้ด้วย
  • Talk ของ Earth กับ Michael ได้ถูกเตรียมอย่างดีและนำเสนอได้อย่างน่าสนใจและสนุกในการฟัง พวกเขาได้รับคะแนนที่ดีและสนุกด้วย ฉันเคยเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมของการพูดของเขา ผลลัพธ์สุดท้ายดีขึ้นมากจากครั้งแรก แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาจากคำแนะนำ
  • แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการ livestream และให้คุณภาพเสียงและวิดีโอที่ดีเยี่ยม
  • ตอนทำ video conference แนะนำให้หาห้องและเบลอพื้นหลังขณะที่อยู่ใน office
  • ลองทำหน้าที่ leadership ให้มากขึ้น
  • พยายามปกป้องความคิดของคุณมากขึ้น, ยืนหยัดในความคิดของคุณและถามคำถามมากขึ้น
  • อย่ากลัวที่จะรับโอกาสที่ท้าทายเพราะมันจะช่วยในการเติบโตของคุณ
  • อย่าหยุดแบ่งประสบการณ์/ความคิดเห็นแม้ว่ามีใครบอกว่าคุณคิดมากเกินไป
  • ภาษาอังกฤษของคุณดีอยู่แล้ว แต่ในฐานะตำแหน่งของและลูกค้าของเรา ฉันขอแนะนำให้คุณปรับปรุงมันอีกถ้าคุณต้องการเป็น consultant ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ใส่ใจกับ “การเขียนเอกสาร” ให้มากขึ้น
  • ฉันคิดว่าคุณอาจเสียดายที่ไม่พูดในสิ่งที่คิดกับทีมของคุณมากขึ้นในการประชุม ฉันเชื่อว่าความคิดของคุณมีประโยชน์มากสำหรับทีม
  • แนะนำให้เขามุ่งมั่นไปทาง high-overview คิดถึงบริบทที่ใหญ่กว่า technical
  • ในเรื่องการ coaching ฉันเห็นว่ามันเป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันของคุณ และฉันเชื่อว่าคุณมีศักยภาพที่จะเป็น coach ที่ดีในอนาคต การทำให้เป็นไปได้น่าจะต้องฝึกอย่างหนักและประสบการณ์มาก
  • คำแนะนำเดียวที่ฉันมีจนถึงตอนนี้คือให้ค้นหาโอกาสนอก project ต่างประเทศ แต่อาจจะไม่มีโอกาสมากนักในการเป็น consultant
  • ในการ present ต่อหน้ากลุ่มคนหน้ากระดาน แนะนำให้ยืนในจุดที่ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและระวังเรื่องคำพูดและคำถามที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ safe ที่จะ share

สิ่งที่อยากจะทำจาก blog ปีที่แล้ว

✅ เหมือนเดิมจากปีที่แล้ว ฮ่า ๆๆ
✅ ถ้าคิดอยากจะลงมือทำอะไรที่ไม่มีอะไรจะเสีย ศึกษาแปบเดียวแล้วลงมือทำเลย จะได้ไม่มาเสียดายทีหลัง
✅ คิดอะไร อยากให้ feedback ใครก็ให้เลย อย่าได้รอจนลืม
✅ จดบันทึกสิ่งที่คิดว่าสำคัญให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมาระลึกชาติ

เป้าหมายในตอนนี้

จากหนังสือ Designing Your Life ความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดจากการออกแบบชีวิตที่ตัวเองต้องการด้วยการหาสมดุลในสี่ด้านที่สำคัญในชีวิต: สุขภาพทางกายและจิตใจ, งาน (ที่ได้รับค่าจ้างและงานอาสา), ความสนุกสนาน และความรัก (ตั้งแต่คู่ครอง ลูก เพื่อน สัตว์เลี้ยง) เราเลยใช้แนวคิดนี้ในการตั้งเป้าหมายที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ เพราะว่าเราต้องสู้เพื่อลบล้างความกลัว ความสงสัยในตนเอง ผลที่ได้ไม่ใช่เส้นชัย แต่คือการเรียนรู้ว่าตัวเองมาได้ไกลมากขนาดไหน

ด้านหน้าที่การงาน

  • ทำให้ performance รอบนี้เกิน expectation ที่ได้ตั้งไว้กับบริษัท
  • พูดในงาน public/private conference อย่างน้อย 3 งาน
  • ออกต่างจังหวัดช่วยงานอาสาโดยไม่จำเป็นต้องไปกับบริษัทอย่างน้อย 1 งาน

ด้านสุขภาพ

  • วิ่งโดยระยะรวมเท่าเดิมหรือมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในทุกอาทิตย์ half-marathon ให้ได้ทุกอาทิตย์ ไม่ว่าจะจากการซ้อมหรือการแข่ง (ยกเว้นอาทิตย์ที่แข่ง)
  • ทำ Bring Sally Up - Push Up Challenge ให้จบ
  • ทำ Wide-Grip Pullups อย่างน้อย 1 ครั้งโดยไม่ใช้ตัวช่วย

ด้านความสนุก

  • ออกทริปเที่ยวคนเดียวอย่างน้อย 2 ทริป ต่างประเทศหรือในประเทศได้หมด

ด้านความรัก

  • เป็น sponsor ให้กับคนที่ไม่อยากจะอยู่แค่ที่เดิม (ซึ่งไม่ผิด) อย่างน้อย 1 คน

สรุป

สำหรับเราแล้วปี 2023 เป็นปีที่ทำไรเยอะสุดละ (ดูจากความยาวเนื้อหาของ blog นี้ฮ่า ๆๆ) นอกจากจะได้ทำงานที่ technical แบบจัดหนักแล้ว ยังไปเอาด้าน soft skill มาอีกเยอะ จากปีที่แล้วเราได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเองโดยไม่เครียดจนเกินไป ปีนี้มันได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเพราะเราไม่อยากสบายมากเกินอีกต่อไปแล้ว บันทึกความทรงจำและสิ่งที่ได้เรียนรู้จะถูกเก็บเป็นเชื้อเพลิงในวันที่สภาพแวดล้อมไม่เป็นใจ ในวันที่ชีวิตดูมืดมนหมดหนทาง ในวันที่อุปสรรคและความยากลำบากมันถาโถมเข้ามา เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ไม่มีแม้แต่เส้นชัย Let’s go! 💪

Myself